ครุย มสธ. เครื่องแบบแห่งความภาคภูมิ 

6 สิงหาคม 2522 สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้กำหนดใช้ชุดครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เพื่อเป็นเครื่องประกอบวิทยฐานะของบัณฑิตที่จบการศึกษา เป็นเสื้อครุยลักษณะไทย ซึ่งเป็นชุดครุยแบบโบราณพระราชพิธีไทย หรือที่เรียกว่า “ครุยเทวดา” โดย “ครุย มสธ.” ทุกสาขาวิชาจะใช้รูปแบบเหมือนกัน สะท้อนถึงความรักความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“ครุย” ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตราชตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายไว่ว่า ชื่อเสื้อจำพวกหนึ่ง ใช้สวมหรือคลุม มีหลายชนิด ใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศหรือแสดงหน้าที่ในพิธีการหรือแสดงวิทยฐานะ

การสวมเสื้อครุยในประเทศไทย มีหลักฐานปรากฎในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส

  1. ความเป็นมาของชุดครุยวิทยฐานะของไทย 
  2. ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
  3. เข็มวิทยฐานะ มสธ.
  4. ข้อมูลงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ความเป็นมาของชุดครุยวิทยฐานะของไทย

“ครุยวิทยฐานะ” (ครุยปริญญาหรือครุยบัณฑิต) เป็นชุดพิธีการที่ใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นเครื่องแสดงวิทยฐานะที่ได้สำเร็จการศึกษาการศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งการกำหนดรูปแบบและระเบียบในการสวมชุดครุยนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องตรากฎขึ้นเป็นพระราชกฤษฎีกา 

ในปี พ.ศ.2473 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2473 ความตอนหนึ่งว่า

“…นิสิตที่เล่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและได้รับปริญญานั้น ควรมีโอกาสใช้เสื้อครุยมหาวิทยาลัยเป็นที่เชิดชูเกียรติยศให้เข้ารูปเยี่ยงนิสิตในสถานอุดมศึกษาทั้งหลายในนานาประเทศ…”

ซึ่งพิจารณาได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงให้ปรากฎว่า สยามได้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่แล้ว (ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, 2563: ออนไลน์) ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2473 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งสยาม และเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการใช้ครุยวิทยฐานะ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในไทย จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมากระทั่งทุกวันนี้ 

ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2522 สภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาอนุมัติในหลักการ กำหนดใช้ชุดครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เพื่อเป็นเครื่องประกอบวิทยฐานะของบัณฑิตที่จบการศึกษา เป็นเสื้อครุยลักษณะไทย ซึ่งเป็นชุดครุยแบบโบราณพระราชพิธีไทย หรือที่เรียกว่า “ครุยเทวดา” โดยเสื้อคลุมเป็นผ้าโปร่งสีขาวผ่าอกตลอด มีสำรดรอบขอบที่ต้นแขนกับปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีเขียวคาดสีทองตามสีของมหาวิทยาลัย บริเวณอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง มีวงกลมสีทอง กลางวงกลมมีเข็มตรามหาวิทยาลัยสีทอง

สำหรับ “เข็มตรามหาวิทยาลัย” ทำด้วยโลหะชุบทองสูง 6 เซนติเมตร ติดบนสำรดในวงกลมทั้ง 2 ข้าง ของหน้าอกครุยวิทยฐานะ 

เข็มตรามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(ภาพจาก: สถานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)

ชุดครุย มสธ. สะท้อนให้เห็นถึงความรักความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกสาขาวิชาจะใช้รูปแบบเหมือนกัน ไม่มีแถบสีสัญลักษณ์แบ่งแยกสาขาวิชา แต่แบ่งตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งกำหนดตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2524 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 180 ในมาตรา 4 ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แบ่งเป็น 3 ชั้น  

ครุยบัณฑิต ระดับปริญญาตรี

ครุยบัณฑิต (ปริญญาตรี) มีวงกลมข้างละ 1 วง มีเข็มตรามหาวิทยาลัย ติดบนสำรดในวงกลมทั้งสองข้างของหน้าอก

ครุยบัณฑิต มสธ. ระดับปริญญาตรี
ครุยบัณฑิต ระดับปริญญาตรี

ครุยมหาบัณฑิต ระดับปริญญาโท

ครุยมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) มีวงกลมข้างละ 2 วง มีเข็มตรามหาวิทยาลัย ติดบนสำรดในวงกลมทั้งสองข้างของหน้าอก 

ครุยมหาบัณฑิต ระดับปริญญาโท

ครุยดุษฎีบัณฑิต ระดับปริญญาเอก

ครุยดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) มีวงกลมข้างละ 3 วง มีเข็มตรามหาวิทยาลัย ติดบนสำรดในวงกลมทั้งสองข้างของหน้าอก 

ครุยดุษฎีบัณฑิต ระดับปริญญาเอก

เข็มวิทยฐานะ มสธ.

เครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ “เข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” ซึ่งมีลักษณะและขนาดเดียวกันกับเข็มตรามหาวิทยาลัย แต่แตกต่างที่ด้านหลังเป็นแผ่นเรียบ จารึกเลขประจำตัวนักศึกษา ชื่อ-ชื่อสกุล อักษรย่อปริญญา และปีการศึกษาที่ได้รับปริญญา โดยบรรจุในกล่องกำมะหยี่อย่างสวยงาม

เข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ข้อมูลงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

เอกสารอ้างอิง 

  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2531). 10 ปี มสธ. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย   
  • เอกสารการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2523 เรื่อง ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2523 

ภาพประกอบโดย

  • สถานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช