ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นักนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทย

“…เราต้องแยกระหว่าง Inventor กับ innovator กล่าวคือ inventor คือสร้างอะไรใหม่ ๆ เป็นคนแรก แต่ innovator อาจเอาของที่มีอยู่แล้วเกิดขึ้นแล้วมาปรุงแต่งให้ใช้การได้ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งในบริบทใดบริบทหนึ่ง ผมจึงมองตัวผมเองว่าเป็น innovator มากกว่า inventor…” (ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน) 

เนื่องในวันที่ 22 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ศาสตร์จารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้ก่อตั้ง อธิการบดีคนแรกและนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำนักบรรณสารสนเทศจึงขอร่วมแสดงความยินดี โดยการเผยแพร่ นวัตกรรมวิจิตร ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและการดำเนินการของท่านที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ชีวิต และสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วยไทม์ไลน์ 8 นวัตกรรม ดังนี้

พ.ศ. 2502 นวัตกรรมค่ายอาสาสมัคร

แนวคิดนี้ท่านได้รับมาจากการเป็นตัวแทนนิสิตนักศึกษาไปเข้าค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติที่จัดโดย UNESCO ณ ประเทศอินเดีย จึงมีความคิดที่จะนำกิจกรรมค่ายมาเป็นส่วนหนึ่งของนิสิตนักศึกษาเพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ร่วมพัฒนาสังคมและเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต และเมื่อท่านได้รับเลือกให้เป็นอุปนายกสโมสรนิสิตฯ ในฐานะนิสิตคณะครุศาสตร์ จึงรับผิดชอบการจัดตั้งค่ายอาสาสมัคร ทำให้ค่ายอาสาสมัครค่ายแรกในประเทศไทยจึงถือกำเนิดขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “ค่ายอาสาสมัครเพื่อสังคม” ซึ่งโครงงานสำคัญของค่าย คือ การตัดถนนเชื่อมหมู่บ้านชื่อ “จุฬาราษฎร์สามัคคี” และการทำไร่สัปปะรดตัวอย่างชื่อ “จุฬาราษฎร์พัฒนา” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่มากในเมื่อปี 2502 จนเป็นที่ยอมรับและทำต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันในชื่อ “ค่ายอาสาสมัคร ส.จ.ม.”

ศาสตร์จารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน กับสมาชิกค่ายอาสาสมัครตอนอยู่จุฬาฯ

พ.ศ. 2514 นวัตกรรมวิจัยสถาบัน

ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นผู้บุกเบิกระบบและวางแผนพัฒนาการอุดมศึกษาและระบบงานวิจัยสถาบัน จนได้รับการยกย่องเป็น “บิดาของการวิจัยสถาบันในประเทศไทย” การวิเคราะห์วิจัยศึกษาสถาบันนั้น ทำให้มีความเข้าใจและได้มาซึ่งสารสนเทศสำหรับการกำหนดนโยบาย การวางแผนและการตัดสินใจในการบริหาร ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  

พ.ศ. 2521 นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิด

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อและแรงบันดาลใจของท่านที่สะท้อนผ่านบทความที่แปลว่า …มหาวิทยาลัยเปิดในระบบการสอนทางไกลเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ถึงแม้จะยากเพียงใด ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำและเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ทำมิใช่หรือ… ท่านได้เสนอต่อที่ประชุมระหว่างประเทศ ณ ประเทศอังกฤษ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี มหาวิทยาลัยเปิดแห่งอังกฤษ ท่านจึงนำนวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิดมาใช้ในประเทศไทย ทำให้ “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงก่อกำเนิดจากความคิด มาเป็นกระดาษ และสู่การกระทำ โดยมีแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาทางไกล ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ เป็นทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาความเสมอภาค กระจายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

พ.ศ. 2525 นวัตกรรมสาธิตเสริมสมอง

การจัดตั้งกองทุนการศึกษาเสริมสมอง เกิดขึ้นจากความริเริ่มของท่านที่ได้เสนอความคิดให้จัดสรรเงินทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่จบระดับมัธยมศึกษาที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้มีโอกาสศึกษาจนจบปริญญาตรี ภายใต้ “โครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมอง” ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปัจจุบันโครงการสาธิตเสริมสมองมีผู้รับทุนถึงรุ่นที่ 40 และสิ่งที่น่าประทับใจคือ การจัดตั้งชมรมสาธิตเสริมสมอง เพื่อจัดทุนจากรายได้ที่หา ตั้งเป็นกองทุนมาช่วยน้องและรับอาสาเสริมทักษะให้รุ่นน้องให้กับมหาวิทยาลัย 

พ.ศ. 2527 นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ

นวัตกรรมคืนคนดีสู่สังคม ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและการดำเนินการของท่านที่ยึดมั่นการให้การศึกษาตลอดชีวิตและการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ทุกคนในการเรียนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงทำความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์จัดการเรียนการสอนในเรือนจำ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดการอุดมศึกษาไทยในเรือนจำที่เป็นยอมในต่างประเทศเป็นอย่างมาก 

พ.ศ. 2533 นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการผลักดันและสนับสนุนของท่านที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ มีระบบการบริหารที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพในเชิงบริหารจัดการ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่งที่ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล จึงเกิดการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐแห่งแรกของประเทศไทย สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2533 และ “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” เป็นแห่งที่ 2 สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2535 

พ.ศ. 2538 นวัตกรรมสหกิจศึกษา

“รู้จักตน รู้จักคน รู้จักงาน” การสร้างโอกาสในการทำงานให้แก่บัณฑิต แนวคิดที่การริเริ่มกิจกรรมพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะเหมาะสมกับตำแหน่งและสามารถปฏิบัติงานได้ทันที ดังนั้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจึงได้ดำเนินการดูงานการดำเนินงานสหกิจศึกษาในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ได้แก่ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ และพบแนวคิดหลักการวิธีการของการเรียนในห้องเรียนสลับกับการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ โดยนำคำว่า “Cooperative Education” มาใช้ โดยท่านได้บัญญัติศัพท์คำว่า “สหกิจศึกษา” หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการกระทำร่วมกันระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา โดยเริ่มใช้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นแห่งแรกใน พ.ศ 2533 ต่อมามีการจัดตั้ง “สมาคมสหกิจศึกษาไทย” โดยท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทยคนแรก 

วันสหกิจศึกษาไทยครั้งที่ 1 ขณะศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะ
บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทยจาก ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการสํานักคณะกรรมการการอุดมศึกษา

พ.ศ. 2556 นวัตกรรมพัฒนาบุคลากรตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพอุดมศึกษา (Professional Standard Framework – PSF)

เป็นแนวคิดของท่านที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นการพัฒนาคณาจารย์และผู้สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการเป็นอาจารย์มืออาชีพในสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ของอังกฤษ (UK Professional Standards Framework – UKPSF) 4 ระดับ ได้แก่ Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow และ Principal Fellow เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนของสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ (PSF Dimensions) ใน 3 มิติ คือ มิติด้านความรู้หลัก (Core Knowledge) มิติด้านค่านิยมทางวิชาชีพ (Professional values) และมิติด้านกิจกรรม (Areas of activity) 

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ
เรื่อง กรอบมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ (Professional Standards Framework: PSF)

ข้อมูลเพิ่มเติม