STOU Storian Podcast EP.3 ครุยวิทยฐานะ

สิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับงานปริญญา นั้นก็คือ ครุยวิทยฐานะ เครื่องแบบที่สวมใส่ในพิธีจบการศึกษา ซึ่งครุยที่สวมใส่นั้นมีประวัติศาสตร์ที่มาอย่างไร เรียนจบแล้วทำไมต้องใส่ชุดครุย ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาชุดครุยในไทย และครุยของ มสธ. ได้ที่รายการ STOU Storian Podcast ตอนที่ 3 “ครุยวิทยฐานะ”

  1. ความหมายของคำว่า “ครุย และ วิทยฐานะ”
  2. เสื้อครุยในสมัยอยุธยา
  3. ครุยวิทยฐานะ กำเนิดในสมัยรัตนโกสินทร์
  4. ความเป็นมาของครุยวิทยฐานะของ มสธ.
  5. ปริญญาบัตรของ มสธ.
  6. เข็มวิทยฐานะของ มสธ.
  7. แหวนรุ่น ของ มสธ.

ความหมายของคำว่า “ครุย และ วิทยฐานะ”

ครุย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้อธิบายไว้ว่า หมายถึง

(๑)  [คฺรุย] น. ชายผ้าที่ทำให้รุ่ยเป็นเส้น ๆ, ชายครุย ก็ว่า

(๒) น. ชื่อเสื้อจำพวกหนึ่ง ใช้สวมหรือคลุม มีหลายชนิด ใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศหรือแสดงหน้าที่ในพิธีการหรือแสดงวิทยฐานะ.

วิทยฐานะ หมายถึง น. ฐานะในด้านความรู้ เช่น สอบเทียบวิทยฐานะ มีวิทยฐานะในระดับปริญญาตรี.

เสื้อครุยในสมัยอยุธยา

การแต่งกายชุดครุยในประเทศไทย เริ่มมีหลักฐานปรากฏชัดครั้งแรกในสมัยอยุธยา เป็นภาพวาดของชาวฝรั่งเศสได้บันทึกเหตุการณ์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตจากสยาม นำโดยพระวิสูตรสุนทร หรือโกษาปาน เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อปี พ.ศ.2229 ในครั้งนั้นคณะทูต ได้แต่งกายเต็มยศตามแบบประเพณีไทย คือ การแต่งกายด้วยการสวมเสื้อเยียรบับสีทอง และสวมเสื้อครุยทับ

พระวิสูตรสุนทร หรือโกษาปาน เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อปี พ.ศ.2229

ซึ่งได้มีการสันนิษฐานว่า การสวมครุยในสมัยอยุธยานั้น ได้รับอิทธิพลมาจากเสื้อคลุมของชาวเปอร์เซีย หรือชาวอิหร่านในปัจจุบัน ที่เข้ามาค้าขายและรับราชการในไทย

ขุนนางชาวเปอร์เซียในขบวนพยุหยาตราพระกฐินบกสมัยอยุธยา

นอกจากนี้ จดหมายเหตุของลาลูแบร์ บันทึกภาษาฝรั่งเศลของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปลเป็นภาษาไทย ในจดหมายเหตุได้กล่าวถึงการแต่งกายเสื้อครุย ไว้ว่า

“…พวกขุนนางหรืออำมาตย์ นอกจากนุ่งผ้านุ่งแล้ว ยังมีเสื้อครุยผ้าขาวอีกตัวหนึ่ง (ฝรั่งเรียกเสื้อเชิ้ต) ใช้เหมือนเป็นเสื้อชั้นนอก…เป็นเครื่องสำแดงความเคารพให้ปรากฏต่อผู้ใหญ่ …เสื้อครุยเหล่านี้ไม่มีแผ่นคอต่อและไม่ปิดหน้าอก…”

และจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ยังได้บันทึกฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์ ไว้ว่า

“… พระมหากษัตริยสยามทรงฉลองพระองค์แพร ต่วนดอกอย่างดี …ไว้ภายในฉลองพระองค์ครุย ปักอย่างงามวิจิตรสวมนอกอีกชั้นหนึ่ง…”

ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุย พ.ศ. 2454 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น กฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า ผู้จะสวมเสื้อครุยต้องมีบรรดาศักดิ์หรือมีตำแหน่งที่กำหนดไว้  และได้กำหนดเสื้อครุยสำหรับข้าราชการ เรียกว่า ครุยเสนามาตย์ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ชั้นตรี ชั้นโท และเอก ซึ่งผ้าและลวดลายของเสื้อครุยก็จะมีการประดับตกแต่งให้งามวิจิตรมากขึ้น ตามระดับตำแหน่งที่สูงขึ้น รวมถึงกำหนดให้การบรรพชาเจ้านาคสามารถสวมเสื้อครุยตามประเพณีแต่เดิมได้

ครุยเสนามาตย์ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ชั้นตรี ชั้นโท และเอก

ดังนั้น เสิ้อครุยจึงเป็นเครื่องแบบที่ใช้ในราชสำนัก สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ใช้สวมใส่ในงานพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ เพื่อเป็นการแสดงบรรดาศักดิ์และตำแหน่งของผู้สวมใส่ มาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งระเบียบแบบแผนการสวมเสื้อครุยได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ครุยวิทยฐานะ กำเนิดในสมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ การสวมเสื้อครุยมีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ใช้ในราชสำนักเท่านั้น ต่อมาได้ขยายมาสู่วงการการศึกษาและการศาล สำหรับเสื้อครุยที่นำมาใช้ในการกำหนดวิทยฐานะทางการศึกษา เรียกกว่า ครุยวิทยฐานะ (ครุยปริญญาหรือครุยบัณฑิต) เครื่องแบบสำหรับนิสิตนักศึกษาที่เล่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย

ครุยวิทยฐานะ เริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการรับเอาระบบการศึกษาและการศาลตามแบบอย่างตะวันตกมาใช้ ในปี พ.ศ.2440 พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (ภายหลังทรงกรมเป็นกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดให้ผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตและผู้พิพากษาเมื่อขึ้นบัลลังก์ มีสิทธิสวมเสื้อครุย เรียกว่า เสื้อครุยเนติบัณฑิต

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดเสื้อครุยเนติบัณฑิต พุทธศักราช 2457

เสื้อครุยเนติบัณฑิต

ครุยวิทยฐานะ สำหรับบัณฑิตระดับปริญญา เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2473 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเครื่องแบบเชิดชูเกียรติให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับนักศึกษาในต่างประเทศ ชุดเป็นลักษณะครุยผ้าโปร่ง สีขาว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการใช้ครุยวิทยฐานะของบัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของไทย จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้

เสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจะกำหนดรูปแบบของครุยที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป ซึ่งจำแนกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ครุยแบบพระราชพิธีไทยโบราณ ซึ่งจะเป็นชุดเนื้อผ้าโปร่ง สีขาว หรือสีอื่น ๆ

ครุยแบบพระราชพิธีไทยโบราณ

2. ครุยแบบตะวันตก ที่กำเนิดในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 12 นักศึกษามีการใส่เสื้อครุยคลุมยาวเพื่อเข้าเรียน และไทยเริ่มรับธรรมเนียมฝรั่งใช้ครุยแบบตะวันตกในผู้ที่สำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิต เป็นครุยสีดำ เสื้อคลุมหลังจีบ มีแถบพื้นขาวลายทองพาดบ่าซ้าย จนกลายเป็นต้นแบบของเสื้อครุยแบบตะวันตกของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย

ครุยแบบตะวันตก

ความเป็นมาของครุยวิทยฐานะของ มสธ.

ความเป็นมาของครุยวิทยฐานะของ มสธ. นั้น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2522 สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้พิจารณาอนุมัติให้ใช้ครุยวิทยฐานะแบบไทย ซึ่งเป็นชุดครุยแบบพระราชพิธีไทยโบราณ หรือที่เรียกว่า “ครุยเทวดา” เป็นเสื้อคลุมผ้าโปร่งสีขาว ผ่าอกตลอด มีสำรดรอบขอบที่ต้นแขนกับปลายแขน พื้นสำรดสีเขียวคาดสีทอง ตามสีประจำมหาวิทยาลัย สีเขียวนั้นหมายถึงสีประจำวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสีทองคือสีแห่งความเป็นสิริมงคล ส่วนที่บริเวณอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง มีวงกลมสีทอง กลางวงกลมมีเข็มตรามหาวิทยาลัยสีทอง ติดบนสำรดทั้ง 2 ข้าง

ครุยวิทยฐานะของ มสธ. แบ่งตามระดับการศึกษา 3 ระดับ คือ ครุยบัณฑิต (ปริญญาตรี) มีวงกลมข้างละ 1 วง ครุยมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) มีวงกลมข้างละ 2 วง และครุยดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) มีวงกลมข้างละ 3 วง

ความพิเศษอย่างหนึ่งของครุย มสธ. นั้นคือ ทุกสาขาวิชาจะใช้รูปแบบเหมือนกันทั้งมหาวิทยาลัย โดยไม่มีแถบสีสัญลักษณ์แบ่งแยกสาขาวิชา ซึ่งแนวคิดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบัณฑิต มสธ.

ปริญญาบัตรของ มสธ.

สัญลักษณ์ที่แสดงระดับการศึกษาที่จบ อีกหนึ่งสิ่งนั้นคือ ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตัวปกผลิตจากผ้าไหม ตรงกลางหน้าปกติดเข็มตรามหาวิทยาลัยสีทอง และสีของปกแบ่งตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ใช้ปกสีเขียว ปริญญาโท ใช้ปกสีน้ำเงิน และปริญญาเอก ใช้ปกสีแดง 

เข็มวิทยฐานะของ มสธ.

เครื่องหมายที่ระลึก “เข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”

นอกจากเข็มตรามหาวิทยาลัยที่ติดบนชุดครุยแล้ว ยังมี “เข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” เครื่องหมายที่ระลึก เพื่อแสดงว่าเป็นผู้ที่ได้สำเร็จการศึกษาจาก มสธ. ทำด้วยโลหะชุบทอง ความสูงขนาด 6 เซนติเมตร มีความพิเศษ คือ ด้านหลังของเข็มจารึกเลขประจำตัวนักศึกษา ชื่อ-ชื่อสกุล อักษรย่อปริญญา และปีการศึกษาที่ได้รับปริญญา

แหวนรุ่น ของ มสธ.

ของที่ระลึกสำหรับบัณฑิต ยังมีแหวนรุ่น ซึ่งมีทั้งแหวนเงินรมดำ และแหวนทองคำ โดยที่ตัวแหวนจะสลักชื่อมหาวิทยาลัย ตรามหาวิทยาลัย ชื่อรุ่น และปีการศึกษาที่จบ สำหรับทรงของแหวน มี 2 แบบ คือ รุ่นหัวตัดไม่ประดับพลอย กับรุ่นหัวรีประดับพลอยที่มีให้เลือกหลากหลายสี ถือเป็นเครื่องประดับแทนความทรงจำว่า เป็นบัณฑิตที่จบจากรั้วเขียวทองของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ชุดครุยวิทยฐานะ เป็นเครื่องแบบพิธีการเพื่อแสดงถึงปริญญาวิทยฐานะที่ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หรือเชิดชูเกียรติที่ได้จบการศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งปัญญาที่บัณฑิตสวมใส่อย่างภาคภูมิใจ แสดงถึงความมุ่งมั่นพากเพียรจนก้าวสู่วันแห่งความสำเร็จในเส้นทางการศึกษา

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

เอกสารอ้างอิง

ภาพประกอบโดย