“ศาลาเฉลิมกรุง” โรงมหรสพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 โดยเนื่องจากทรงเห็นว่าในสมัยนั้นภาพยนตร์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ประเทศไทยเรายังไม่มีโรงภาพยนตร์ที่สวยงามภูมิฐาน และเพื่อเป็นอีกหนึ่งถาวรวัตถุเนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี จึงทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ บริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร ซึ่งถือเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญในสมัยนั้นเป็นที่ก่อสร้างโรงภาพยนตร์ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาทในการสร้าง
ที่ตั้งของศาลาเฉลิมกรุง แต่เดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินบริเวณระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนพาหุรัดช่วงหลังวังบูรพาภิรมย์ระหว่างถนนบูรพาและถนน ตรีเพชร โดยวางแผนตัดถนนเป็นรูปกากบาทในพื้นที่ดินรูปสี่เหลี่ยมนี้ ด้วยว่าเดิมทรงพระราชดำริให้เป็นย่านการค้า แต่แนวพระราชดำรินี้ก็มิได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ คงปล่อยเป็นลานโล่งๆ ที่ตรงกลางมีถนนสองสายตัดกันเหลือไว้ ต่อมาผู้คนเรียกบริเวณนี้ว่า “สนามน้ำจืด” ทำเลบริเวณนี้จึงเหมาะสมที่จะจัดตั้งโรงมหรสพ และยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับอนุสรณ์สถานที่ก่อสร้างขึ้นวาระฉลองพระนคร 150 ปี คือ ปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพุทธยอดฟ้า โดยก่อนการก่อสร้างโรงมหรสพ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ก่อสร้างด้วยพระองค์เอง
2 กรกฎาคม 2476 พิธีเปิดศาลาเฉลิมกรุง
“ศาลาเฉลิมกรุง” มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (หม่อมราชวงศ์มูล ดารากร) เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีเปิดโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้ฉายรอบปฐมฤกษ์ คือ “มหาภัยใต้ทะเล” (Below the Sea 1933) เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดระบบเสียงในฟิล์ม (ไม่ใช้คนพากย์สด) เป็นรอบการกุศลรายได้จากการขายบัตรทั้งหมดมอบให้กับสภากาชาดสยาม และในค่ำวันเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์เรื่อง Tarzan the Apeman ฉบับหนังขาวดำ
นอกเหนือจากการสร้างศาลาเฉลิมกรุงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเห็นว่าการดำเนินการโรงภาพยนตร์จำเป็นต้องมีผู้ดูแลและบริหารงาน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งบริษัทและโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ว่า “บริษัท สหศินีมา จำกัด (The United Cinema Company Limited)” เพื่อบริหารศาลาเฉลิมกรุง และโรงภาพยนตร์ในเครือ รวมทั้งนำเข้า จัดจำหน่าย และจัดฉายภาพยนตร์ทั่วประเทศ
ศาลาเฉลิมกรุงสถาปัตยกรรมทันสมัยในยุคเฟื่องฟู
“ศาลาเฉลิมกรุง” เป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้น เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้แนวคิดจาก Theatre des Champs-Elysees โรงละครที่ตั้งอยู่บนถนนชองป์-เซลิเซ่ส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ซึ่งชื่อของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ
ศาลาเฉลิมกรุง จัดเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกที่มีการใช้ระบบปรับอากาศ โดยใช้ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ (Chilled Water System) และเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรก ๆ ที่มีพื้นที่ส่วนห้องโถง ซึ่งมีทั้งร้านอาหารและของขบเคี้ยว จัดฉายภาพยนตร์ทั้งจากต่างประเทศและภาพยนตร์ไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นยุคทองของภาพยนตร์ในประเทศไทย ศาลาเฉลิมกรุงได้จัดฉายภาพยนตร์ไทยรอบปฐมทัศน์เพื่อโปรโมทภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมกรุงถือเป็นจุดนัดพบของบรรดาผู้อยู่ในแวดวงบันเทิง
เมื่อเข้าสู่ยุคละคร (พ.ศ. 2484 – 2488) ศาลาเฉลิมกรุงมีบทบาทในการจัดแสดงละครเวที สลับกับการร้องหน้าม่านของนักร้องที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น อาทิ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สถาพร มุกดาประกร ชาญ เย็นแข ฯลฯ นอกจากนี้ก็มีการจัดวงดนตรีมาเล่นสลับกับการแสดงละครย่อยของคณะจำอวด วงดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยนั้น เช่น วงดุริยะโยธินและวงสุนทราภรณ์
ศาลาเฉลิมกรุงยุคปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ศาลาเฉลิมกรุงได้ปิดทำการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงครั้งใหญ่โดยบริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด ได้ทำการปรับปรุงเพื่อให้เป็นโรงมหรสพชั้นหนึ่งที่หรูหรางดงามและเชิดหน้าชูตาของประเทศบทบาทใหม่ของศาลาเฉลิมกรุง มิได้มุ่งเน้นในด้านภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวเหมือนในสมัยก่อน แต่มุ่งเน้นในด้านศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ “โขน” อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย โดยนำมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในลักษณะประกอบแสง สี เสียงและเทคนิคพิเศษ เพื่อเสริมอรรถรสในการชมให้มีจินตนาการที่สมจริงยิ่งขึ้น การแสดงนี้เรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” คือ การผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีกับศิลปะการแสดงของไทยที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่คล้ายกับแนวคิดในการออกแบบอาคารศาลาเฉลิมกรุง
ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงได้จัดรายการศาลาเพลง ในรูปแบบการแสดงดนตรีหลากหลายแนวพร้อมด้วยศิลปินและนักร้องชั้นนำของประเทศหมุนเวียนกันมาขับกล่อม เพื่อเป็นการสืบสานตำนานเพลงไทยและโชว์ผลงานคุณภาพของศิลปินระดับประเทศ แนวเพลงที่นำมาแสดง เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงไทยสากล เพลงไทยลูกทุ่งและเพลงสากล รวมทั้งกิจกรรมประกวดร้องเพลง ศาลาเฉลิมกรุงจึงเปรียบเสมือนพระบรมราชานุสรณ์ที่สืบทอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระราชทานโรงมหรสพแห่งนี้ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- นิทรรศการออนไลน์ เรื่อง นิทรรรศการออนไลน์ “ศาลาเฉลิมกรุง”
- บทความออนไลน์ เรื่อง พระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475
- บทความออนไลน์ เรื่อง ปฐมบรมราชานุสรณ์ ราชอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1
- บทความออนไลน์ เรื่อง สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ของสยาม
- STOU Storian Podcast EP.6 จุดเริ่มต้นภาพยนตร์…สู่พระราชนิยมพระปกเกล้าฯ
เอกสารอ้างอิง
พระปกเกล้า, พระบาทสมเด็จพระ. (2492). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์พินิตในคราวเสด็จพระพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2472. โรงพิมพ์อักษรนิติ.
สถาบันพระปกเกล้า. (2565). สยามสถาปัตย์รัชกาลพระปกเกล้า = Siamese Architecture in King Prajadhipok’s Reign. สถาบัน.
เรียบเรียงโดย
วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.