128 ปีแห่งการเสด็จพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันครบรอบปีที่ 128 แห่งการเสด็จพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ร.ศ. 112 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร

เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา พระองค์ได้เข้าศึกษา ในวิทยาลัยทหารบก ณ ประเทศอังกฤษ และได้เสด็จกลับมารับราชการในรัชกาลที่ 6 โดยได้รับยศเป็นนายพันโททหารบกมีตําแหน่งเป็นราชองครักษ์ ต่อมาภายหลังได้เลื่อนตําแหน่งเป็นลําดับจนเป็นนายพันเอก มีตําแหน่งเป็นปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ก่อนขึ้นครองราชสมบัติมีตําแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบก

พ.ศ.2461 พระองค์ทรงขอพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเหล่าเสนาบดีพร้อมกันกราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ ขณะประทับอยู่ที่บ้านโนลแครนลี ประเทศอังกฤษ เนื่องด้วยความคิดเห็นที่ขัดแย้งทางการเมืองบางประการ หลังจากนั้นได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา

ทรงเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อน

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่เสด็จสถิตในสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญนานับประการที่ก่อประโยชน์แก่มวลอาณาประชาราษฎร์ ด้วยหลักทศพิธราชธรรม อาทิ โปรดเกล้าฯ อุปถัมภ์บำรุงกิจการหอสมุด จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์พระนคร (สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ) ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติ โปรดเกล้าฯ ให้เร่งรัดการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ ทั้งทรงให้ยกเลิกการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในโรงเรียนประชาบาล เร่งรัดการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษา และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์แห่งชาติ พุทธศักราช 2473 ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 ริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตร นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ และทรงพัฒนาการเมืองระดับท้องถิ่น โดยจัดการปกครองแบบเทศบาล หรือเรียกว่า “ประชาภิบาล” เพื่อเป็นการฝึกฝนให้ราษฎรเรียนรู้วิถีทางประชาธิปไตย ยังทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ด้วยการเสด็จฯ ประพาสต่างประเทศเพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาประเทศนั้นๆ และจัดทำสนธิสัญญาไมตรี

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี

สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

  1. 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก (E-Book)
  2. นิทรรศการออนไลน์ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  3. พิพิธภัณฑ์ 360° พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

หน่วยสนเทศสุโขทัยศึกษา ฝ่ายบริการสนเทศ
02-504-7467-68
[email protected]