บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.18 “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: บิดาแห่งประวัติศาสตร์, ทาสแมว”

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ประเทศไทยได้กำหนดให้เป็น วันดำรงราชานุภาพ เพื่อรำลึกถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลสำคัญของไทย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย และเป็นบุคคลไทยพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยผลงานพระนิพนธ์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่ให้คุณอย่างอเนกอนันต์ต่อชนรุ่นหลังที่ศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี รายการบรรณสารฯ ติดเล่า Podcast ของเราเองนั้น ก็ได้ใช้พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการอ้างอิงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง วันนี้รายการ บรรณสารฯติดเล่า ได้นำเรื่องราวของกรมพระยาดำรงราชานุภาพในมุมที่น่าสนใจมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านกันครับโดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติจากเจ้าจอมมารดาชุ่ม ได้รับพระราชทานนามว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ทรงได้รับการศึกษาตามอย่างที่เจ้านายในราชสำนักสยามในสมัยได้ศึกษากัน และรวมถึงศึกษาภาษาอังกฤษและผนวชเป็นสามเณร เพื่อศึกษาพระธรรม ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก และทรงเข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็กในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จนเมื่อพระชนม์ได้ ๒๔ ชันษา ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏ ทรงกรมเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

งานด้านการศึกษา

การใช้คำเรียกพยัญชนะ ว่า ก.ไก่ ข.ไข่ บทเรียนนั้นง่ายต่อการจดจำเป็นมรดกทางการศึกษาภาษาไทย เริ่มต้นมาจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ….

ในช่วงแรกนั้นทรงปฏิบัติราชการทางด้านการศึกษา ได้ดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมศึกษาธิการ ซึ่งผลงานในด้านการศึกษาท่านได้จัดทำแบบเรียนเร็วขึ้น เป็นแบบที่ปรับปรุงขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังทำให้บทเรียนนั้นง่ายต่อการจดจำ เช่น การใช้คำเรียกพยัญชนะ ว่า ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งกลายมาเป็นมรดกทางการศึกษาภาษาไทยดังที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพปฏิบัติราชการสนองพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ด้วยดีมาโดยตลอด จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาก จนได้รับหน้าที่สำคัญมากมาย เช่น ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงผู้แทนพระองค์ไปรับเจ้าชายซาเรวิช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ที่สิงคโปร์ และนำเสด็จมายังสยาม ซึ่งในปีนั้นสยามได้จัดการต้อนรับมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ

ซึ่งในเวลาต่อมา เจ้าชายซาเรวิชได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าซานิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซีย เป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏภาพถ่ายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองพระองค์ฉายพระรูปร่วมกัน ซึ่งภาพนี้เองที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสยามในยุคล่าอาณานิคมเป็นอย่างมาก  ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เป็นหัวหน้าคณะทูต เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรป การเดินทางในครั้งนี้ ท่านได้สังเกตการศึกษาในต่างประเทศด้วย ยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ 

งานด้านการเมืองการปกครอง

เมื่อกลับมาถึงสยามเพียง  ๗ วันก็ต้องย้ายออกจากงานทางด้านการศึกษามาสนองงานตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๕ ในด้านการปกครอง คือ ได้รับตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงดำเนินการตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๕ โดยการวางระบบการปกครองแบบ เทศาภิบาล คือ การปกครองจากส่วนกลาง และแบ่งอำนาจบางส่วนไปยัง มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ยกเลิกระบบเจ้าเมืองและเจ้าประเทศราช ให้ถือว่าเป็นสยามด้วยกันทั้งสิ้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจหัวเมืองเพื่อติดตามการปฏิบัติงานของข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ และประทานคำแนะนำในเรื่องที่แนะนำได้ และนำความขึ้นกราบบังคมทูลอยู่เป็นอาจิณ  ซึ่งในตอนนั้นสยามมีอยู่ด้วยกันถึง ๗๑ จังหวัด กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็เดินทางตรวจตราถึง ๗๐ จังหวัดด้วยกัน

เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร พ.ศ.๒๔๔๙
ที่มา: สมุดภาพพระประวัติและพระกรณียกิจ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ ๕ มาจนถึงแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและมีผลงานปรากฏมากมาย และได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ พระองค์ก็ทรงได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง ด้วยทรงปฏิบัติราชการในกระทรวงนี้มายาวนานแล้ว ทั้งยังเพื่อเปิดโอกาสให้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลือกบุคคลที่ถูกพระราชหฤทัยมาปฏิบัติงาน แต่ก็ยังได้รับตำแหน่งอื่น ๆ อีก เช่น นายกสภาหอพระสมุด เสนาบดี กระทรวงมุรธาธร เป็นต้น

งานด้านห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้

“เราหาหนังสือหลักฐานทางราชการสมัยก่อน ๆ ลำบากอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเริ่มต้นเสียแต่บัดนี้ ในเวลาอีก ๑๐๐-๒๐๐ ปี เด็ก ๆ จะแต่งหนังสืออะไรก็จะหาหลักฐานได้จากหอนี้ ไม่ลำบากเหมือนคนชั้นพ่อ”

พูดถึงตำแหน่งนายกสภาหอพระสมุดสำหรับพระนคร พระองค์ทรงจัดให้มีการพิมพ์หนังสือใหม่ ๆ ออกอยู่เสมอ ทั้งยังหาผู้ช่วยที่มีความเชี่ยวชาญในภาษาต่าง ๆ มาช่วยในการค้นคว้าเอกสารต่างประเทศ รวมทั้งยังลงพื้นที่จริงเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และนำมาเขียนเป็นหนังสือ จึงทำให้มีงานพระนิพนธ์มากมาย โดยเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อีกทั้งยังประกาศไปยังหอสมุดต่าง ๆ ในโลกว่าผู้ใดพบเห็นเรื่องเกี่ยวกับไทย ให้คัดลอกส่งมาหอพระสมุด จะตอบแทนตามสมควร ทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งเห็นความสำคัญของงานจดหมายเหตุ ท่านเคยตรัสกับ หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย พระธิดาของพระองค์ว่า “เราหาหนังสือหลักฐานทางราชการสมัยก่อน ๆ ลำบากอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเริ่มต้นเสียแต่บัดนี้ ในเวลาอีก ๑๐๐-๒๐๐ ปี เด็ก ๆ จะแต่งหนังสืออะไรก็จะหาหลักฐานได้จากหอนี้ ไม่ลำบากเหมือนคนชั้นพ่อ” ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อคนที่ศึกษาในชั้นหลัง ดังเช่นท่านว่าไว้จริง ๆ

เสด็จปราสาทบ้านระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์
ที่มา: สมุดภาพพระประวัติและพระกรณียกิจ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมื่อเข้าสู่รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ นอกจากพระองค์ จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น คณะอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่วินิจฉัยและถวายคำปรึกษาพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังได้ดำรงตำแหน่ง นายกราชบัณฑิตยสภา ที่พึ่งก่อตั้งขึ้น และได้รับหน้าที่สำคัญคือ รัชกาลที่ ๗ พระราชทานวังหน้า ให้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งพระองค์  ได้ดำเนินการจัดตั้งอย่างรวดเร็วและสำเร็จภายในปีนั้น ทั้งเสนอให้มีกฎหมายควบคุมโบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม

สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร  พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้นที่เป็นความสุข

ความรักในการแสวงหาความรู้ของท่านยังคงมีอยู่เสมอ ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่ปีนัง ท่านมักจะไปทรงอ่านหนังสือที่หอสมุดอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งทรงซื้อหนังสือมาหนึ่งเล่มและให้พระธิดาผู้เก็บรักษาเงินไปชำระค่าหนังสือให้ ด้วยทรงอยู่ปีนัง การใช้จ่ายจึงต้องระมัดระวังอย่างมากพระธิดาจึงบ่นว่า “ไม่กินข้าวละ กินหนังสือแทน”  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านได้ยินครู่หนึ่ง จึงตรัสว่า “จะเอาอย่างไรกับพ่อเล่า สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร  พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้นที่เป็นความสุข” ธิดาของพระองค์จึงได้นำเงินไปจ่าย ขณะที่อยู่ปีนังนั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่คลายความเหงาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ คือ การเขียนจดหมายตอบโต้กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  โดยในเนื้อหาของจดหมายของทั้งสองพระองค์จะทรงเขียนถึงกันอยู่เป็นประจำนั้น ได้เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทรงพบเห็น ยกเว้นเรื่องการเมือง และแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งหลาย ที่ทั้งสองพระองค์มี  ซึ่งภายหลังถูกนำมารวมเล่มเป็นหนังสือที่ชื่อว่า สาส์นสมเด็จ หนังสือที่เป็นคลังความรู้อันทรงคุณค่า รวบรวมทั้งตำนาน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ และศิลปศาสตร์ เข้าไว้ 

สาส์นสมเด็จ

ทาสแมว

อีแมวว่า เป็นแมวอิสลาม เพราะไม่กินหมู แสนรู้มากขึ้นทุกวัน วันไหนถึงเวลาอาหารก็จะส่งเสียงร้องและวิ่งขึ้นไปบนห้องเที่ยวหาจนพบ และมาคลอเคลีย

ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับอยู่ปีนัง นอกจากเรื่องของการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือแล้ว พระองค์ยังทรงเลี้ยงแมวอีกด้วย เรื่องนี้ปรากฏอยู่หลายครั้งในหนังสือเรื่อง สาส์นสมเด็จ ที่ทรงเขียนถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า มีแมวหลงเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยการเอาหัวมาคลอเคลียที่ขา จึงประทาน นมโคให้ไปหนึ่งจาน หลังจากนั้นก็จะมาหาตามเวลา และแสดงความสวามิภักดิ์เพิ่มขึ้นไปอีก โดยการกระโจนขึ้นมานั่งบนตัก และจะมาเวลาอาหาร มาเฝ้าที่โต๊ะ พระองค์ จึงทรงให้พระธิดาคลุกข้าวให้และเรียกว่า “อีแมว” ทรงเล่าถึงความน่ารักของอีแมวว่า เป็นแมวอิสลาม เพราะไม่กินหมู แสนรู้มากขึ้นทุกวัน วันไหนถึงเวลาอาหารก็จะส่งเสียงร้องและวิ่งขึ้นไปบนห้องเที่ยวหาจนพบ และมาคลอเคลีย ถ้าหลับอยู่ก็จะเอาหางปัดจนตื่นและตามไปห้องอาหาร พอตอนดึกก็มาส่งที่บันได และกลับไปนอนตักพระธิดาที่คลุกข้าวให้เป็นการขอบคุณ พระองค์ เห็นความภักดีจึงรักและเลี้ยงไว้เอาบุญครั้งหนึ่ง ท้ายจดหมาย พระองค์ ได้เขียนจบว่า ตอนนี้อีแมวนอนขวางที่บนตักชวนให้ไปกินกลางวัน ด้วยจวนบ่ายโมง ๑ ในระยะหลังพระองค์เริ่มประชวรด้วยโรคหัวใจ จึงทรงเดินทางกลับมายังประเทศไทย ซึ่งพระองค์ก็ได้หอบอีแมว แมวตัวโปรดของพระองค์กลับมาด้วย จนในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็สิ้นพระชนม์ ณ วังวรดิศ สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๑ ชันษา

สิ่งที่ผมเห็นจากชีวิตของท่านคือ เรื่องการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอ และอีกสิ่ง คือ การใช้วิชาความรู้ที่สั่งสมมาพัฒนางานในหน้าที่ของตัวเองให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด  และผู้อ่านละครับมีความคิดเห็นหรือได้ประโยชน์อย่างไร

กับเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง SoundCloud 

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง Facebook


อ้างอิง

กรมศิลปากร. (2529). สมุดภาพพระประวัติและพระกรณียกิจ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ. (ม.ป.ป.). พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ.

พูนพิศมัย ดิศกุล. (2551). สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น : ภาคจบ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : มติชน.