ศาสนาคริสต์อยู่คู่กับสังคมไทยเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยอยุธยาจวบจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้เราได้เห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราที่เป็นอิทธิพลทางศาสนาคริสต์ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์คริสต์ โรงเรียนคริสต์ และยิ่งช่วงเดือนธันวาคมแบบนี้ตามห้างร้านถนนหนทางต่าง ๆ ก็มีการประดับประดาด้วยแสงไฟและต้นคริสต์มาสซึ่งเป็นอิทธิพลหนึ่งอันมีที่มาจากศาสนาคริสต์ สะท้อนให้เห็นว่าแม้ความเชื่อทางศาสนาจะแตกต่างกันแต่สามารถอยู่ร่วมกันและเฉลิมฉลองเนื่องในวาระสำคัญร่วมกันได้ แต่มีช่วงเวลาหนึ่งที่ชาวคริสต์ศาสนิกชนถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐไทยนั่นคือ เรื่องราวของบุญราศีทั้ง 7 มรณสักขีแห่งสองคอน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
กำเนิดศาสนาคริสต์ ณ หมู่บ้านสองคอน
ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องราวของบุญราศีทั้ง 7 ท่าน ขอเท้าความถึงที่มาของศาสนาคริสต์ในหมู่บ้านสองคอนเสียก่อน บ้านสองคอน ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่ ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในจังหวัดนครพนม ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้ถูกภัยร้ายจากโรคระบาดคุกคามจนมีผู้คนล้มเจ็บตายเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็มักจะถูกขนานนามว่า โรคห่า ในยุคที่องค์ความรู้ด้านการแพทย์ยังไม่แพร่หลายนัก การวินิจฉัยสาเหตุของโรคภัยจึงเป็นการวินิจฉัยตามความเชื่อที่มีอยู่ว่าเป็นโรคที่มาจากสิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็น ภูตผีปีศาจจึงตกเป็นจำเลยว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคห่าในครั้งนี้ แต่แล้วภัยร้ายนั้นก็ถูกปราบลงได้ด้วยฝีมือของนักบวชผู้หนึ่งนั่นคือ คุณพ่อซาเวียร์ เกโก พระสงฆ์มิชชันนารี คณะมิสซังต่างประเทศ แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
คุณพ่อไม่ได้ปราบโรคร้ายด้วยการเอาไม้กางเขนทาบหน้าผากผู้ป่วยแล้วอ่านพระคัมภีร์หรือสาดน้ำมนต์ใส่แต่อย่างใด แต่คุณพ่อซาเวียร์ เกโก ปราบโรคร้ายด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่นำติดตัวมาด้วย จึงทำให้ชาวบ้านนั้นหายจากโรคห่าที่คุกคามอยู่ นอกจากรักษาแล้วคุณพ่อท่านยังได้เผยแพร่คำสอนทางศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวบ้านไปด้วย ชาวบ้านสองคอนรอดพ้นจากภัยจากโรคร้ายได้เพราะคุณพ่อซาเวียร์ เกโก จึงก่อให้เกิดความศรัทธา สมัครใจเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน ประชากรในหมู่บ้านสองคอนนอกจากจะเป็นชาวบ้านที่รอดพ้นจากโรคห่าแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านอื่นเพราะความเชื่อท้องถิ่นที่ตราหน้าว่ามีพฤติกรรมอันบ่งชี้ว่าเป็นปอบ ซึ่งก็ได้รับความเมตตาให้มาพักพิงอยู่ในหมู่บ้านสองคอน และประชากรอีกส่วนเป็นทาสที่คุณพ่อซาเวียร์ เกโก ได้ไถ่ให้เป็นอิสระและมาอาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านสองคอน คุณพ่อซาเวียร์ เกโก จึงได้สร้างศาสนสถานขึ้น ณ บ้านสองคอน และตั้งชื่อศาสนสถานแห่งนี้ว่า วัดพระแม่ไถ่ทาส ศาสนาคริสต์จึงได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่ชาวบ้านสองคอนนับแต่นั้นมา
กรณีพิพาทอินโดจีน มูลเหตุความชิงชังชาวคริสตัง
จนเมื่อประเทศไทยเกิดเหตุการณ์กรณีพิพาทอิโดจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่อุดมการณ์ชาตินิยมเบ่งบาน มีนักศึกษาออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ทวงคืนดินแดนที่เชื่อกันว่าสยามต้องสูญเสียให้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ.112 สมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสในสายตาชาวไทยในสมัยนั้นจึงถือเป็นศัตรูในฐานะจักรวรรดินิยมผู้รุกราน
(ขอบคุณภาพจาก : www.silpa-mag.com)
และแน่นอนชาวคริสตังที่อาศัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงอันใกล้กับอินโดจีนและมีผู้นำทางศาสนาเป็นชาวฝรั่งเศสจึงถูกรังเกลียดไปในทันที ศาสนาคริสต์นิกายนิกายโรมันคาทอลิกถูกมองว่าเป็นฝรั่งเศสทั้งสิ้นแม้ศาสนิกชนจะเป็นชาวไทยก็ถูกมองว่าไม่ใช่ไทยที่แท้จริงแต่เป็นพวกของฝรั่งเศส ทั้งยังถูกรุกรานอย่างหนัก มีการขับไล่นักบวชชาวฝรั่งเศสออกนอกประเทศ สั่งห้ามประกอบพิธีทางศาสนา ทำลายศาสนสถาน ตลอดจนบังคับให้เปลี่ยนศาสนาไปนับถือพุทธ
ความรุนแรง ณ สองคอน
หมู่บ้านสองคอนเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นกันมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพกอาวุธมาประจำชุมชน เจ้าอาวาสแห่งวัดพระแม่ไถ่ทาสในตอนนั้นเป็นชาวฝรั่งเศส ต้องอพยพออกจากหมู่บ้านไปพำนักอยู่ที่ฝั่งลาว ทำให้วัดเหลือเพียงครูสอนหนังสือ คือ ครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ และซิสเตอร์สองคน คือ ซิสเตอร์ อักแนส พิลา ทิพย์สุข และซิสเตอร์ ลูซีอา คำบาง สีคำฟอง นอกจากนี้ยังมีแม่ครัวชื่อ พุดทา ว่องไว รวมทั้งเด็กผู้หญิง 3 คนที่อาศัยอยู่กับซิสเตอร์ ตำรวจชุดควบคุมหมู่บ้านทำการข่มขู่ชาวบ้าน มิให้กระทำพิธีทางศาสนา มิให้ชุมนุมกันเกิน 3-4 คน ทั้งยังมีพฤติกรรมที่เลวร้ายทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ครูสีฟองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำทางศาสนาของสองคอนอยู่ในขณะนั้น จึงเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังนายอำเภอมุกดาหาร (ขณะนั้นเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครพนม) แต่จดหมายนั้นกลับถึงมือของตำรวจผู้ควบคุมหมู่บ้านอยู่ สร้างความไม่พอใจแก่พวกเขาอย่างมาก จึงกำจัดครูสีฟองโดยการเขียนจดหมายลวงครูสีฟองให้ไปพบนายอำเภอ ครูสีฟองหลงเชื่อจึงเดินทางไปก็ถูกสังหารเสียชีวิตในวันที่ 16 ธันวาคม 2483
หลังจากครูสีฟองเสียชีวิตลง ชาวบ้านหวาดกลัวเป็นอย่างมากแต่ ซิสเตอร์สองคนได้ทำหน้าที่แทนอยู่ ตำรวจผู้ควบคุมหมู่บ้านจึงดำเนินการข่มขู่ซิสเตอร์ทั้งสอง ทั้งบังคับและกดดันให้ชาวบ้านเลิกนับถือศาสนาละทิ้งความเชื่อความศรัทธาเดิมของตน ท้ายที่สุด ซิสเตอร์ทั้งสองและชาวบ้านอีก 5 คนยืนยันที่จะยึดมั่นและศรัทธาต่อความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า เขียนจดหมายถึงตำรวจแจ้งความจำนงที่จะตายเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อ ความศรัทธาที่ตนมี วันรุ่งขึ้น ตำรวจจึงได้นำทั้ง 7 คนมาสังหาร ณ ป่าช้า โดยทั้ง 7 ท่านได้นั่งคุกเข่าสวดภาวนาหน้าขอนไม้ใหญ่ และถูกตำรวจยิงเสียชีวิต ณ ที่แห่งนั้น มีเพียง ด.ญ.พอน ว่องไว ที่รอดมาได้อย่างปาฏิหารย์ และกลายเป็นพยานที่นำเรื่องราวมาเล่าให้กับคนทั้งหลายได้รับรู้ถึงเหตุการณ์อันแสนโหดร้ายในวันนั้น เมื่อเวลาผ่านไปเหล่าผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นได้รับการย่องย่องอย่างสมเกียรติที่สุด มีการเสนอให้ทั้ง 7 ท่านเป็นบุญราศี จนในที่สุด วันที่ 22 ตุลาคม 2532 สันตะวาติกัน โดยสมเด็จสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้รับรองคนไทยทั้ง7 ท่าน อันได้แก่
- บุญราศีฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์
- บุญราศีอักแนส พิลา ทิพย์สุข
- บุญราศีลูซีอา คำบาง สีคำพอง
- บุญราศีอากาทา พุดทา ว่องไว
- บุญราศีเซซีลีอา บุดสี ว่องไว
- บุญราศีบีบีอานา คำไพ ว่องไว
- บุญราศีมารีอา พร ว่องไว
ที่สละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อและความศรัทธาให้เป็นบุญราศีและการตายนั้นคือ มรณสักขี โดยสมเด็จสันตะปาปาได้ประกาศให้มีการฉลองบุญราศีมรณสักขีแห่งสองคอนในวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีด้วย นับว่าเป็นการประกาศแต่งตั้งคริสตังคนไทยเป็นบุญราศีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
(ขอบคุณภาพจาก :http://dondaniele.blogspot.com/2019/10/30.html)
เมื่อผู้อ่านอ่านเรื่องราวทั้งหมดจนถึงตอนนี้แล้วคงหดหู่ไม่น้อยผู้เขียนเองก็เช่นกันยังมีเรื่องราวอีกมากมายของมรณสักขีแห่งสองคอนที่ผู้เขียนไม่ได้นำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับรู้ในครั้งแต่ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตซึ่งผู้เขียนจะได้แนะนำไว้ในตอนท้าย สิ่งที่ผู้เขียนได้เห็นจากเรื่องราวของทั้ง 7 นั้นคือทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่า
การที่คนเรามีความเชื่อความศรัทธาที่แตกต่างจากคนหมู่มากหากไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ใด ผู้มีความเชื่อเหล่านั้นย่อมไม่ใช่ผู้มีความผิด เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ และไม่ควรนำเอาความเชื่อที่แตกต่างนั้นมาเป็นชนวนเหตุแห่งความแตกแยกและความขัดแย้งอันนำไปสู่การสูญเสียดังเรื่องราวของท่านบุญราศีมรสักขีแห่งสองคอน
คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง SoundCloud
คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง Facebook
อ้างอิง
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2564). ศาสนสถานสำคัญคู่แผ่นดิน. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา.
สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2562). เอกสารการสอนชุดวิชาโลกทัศน์ไทย. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
นิติ ภวัครพันธุ์. (2564). ‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ กับความหวาดระแวงของรัฐไทย. สืบค้น 12 ธันวาคม 2565, จาก https://www.the101.world/martyrs-of-songkhon/
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. (2563). โรคห่า ข้าทาส และผีปอบ กับชะตากรรมของคนนอกที่สองคอน. สืบค้น 12 ธันวาคม 2565, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_311722