แรงบันดาลใจจาก “สู้ดิวะ”
รายการบรรณสารฯ ติดเล่า Season 2 EP. 22 จะพูดถึงเรื่องราวที่สำคัญต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นั่นคือ “ฝุ่น PM 2.5” ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็น แต่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด และในโอกาสที่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “United by Unique: รวมพลังด้วยความแตกต่าง” เราจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับภัยร้ายของ PM 2.5 พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเอง และแบ่งปันแรงบันดาลใจจากหนังสือดี ๆ
PM 2.5 ภัยเงียบที่มองไม่เห็น
ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า และเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ฝุ่นชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางตา จมูก คอ และลึกไปจนถึงปอด บางส่วนยังเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในหลายด้าน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น
- ผลกระทบระยะสั้น ระคายเคืองตาและผิวหนัง แสบตา ตาแดง ไอ จาม หายใจไม่สะดวก
- ผลกระทบระยะยาว
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ และความดันโลหิตสูง
- ระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคปอดอุดตันเรื้อรัง
- มารดาและทารกในครรภ์ เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด และกระทบต่อพัฒนาการของทารก
- มะเร็งปอด องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้จัดให้ PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 ซึ่งหมายถึง มีหลักฐานชัดเจนว่าฝุ่นนี้ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
ดังนั้น การป้องกันตัวเองจาก PM 2.5 จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ ในวันที่ทุกคนพูดถึงมะเร็ง เราอยากแนะนำหนังสือที่ให้กำลังใจผู้คนในยามเผชิญหน้ากับโรคร้าย นั่นคือ “สู้ดิวะ” เขียนโดยคุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายที่แบ่งปันเรื่องราวการต่อสู้กับโรค ผ่านมุมมองเชิงบวก ในหนังสือคุณหมอเล่าถึงกระบวนการรักษาและการเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยอย่างกล้าหาญ พร้อมคำแนะนำที่ช่วยสร้างกำลังใจแก่ผู้อ่าน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการแรงบันดาลใจในการก้าวข้ามความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยหรือปัญหาในชีวิต
วิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5
แม้ฝุ่น PM 2.5 จะเป็นภัยที่หลีกเลี่ยงได้ยากในบางสถานการณ์ แต่เราสามารถลดผลกระทบต่อสุขภาพได้ดังนี้
- รู้สถานการณ์ : ตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ เช่น Air4Thai หรือ AirVisual และสังเกตดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในพื้นที่
- ลดกิจกรรมที่ก่อมลพิษ :ลดการสร้างมลพิษ ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษ ปิ้งย่างที่ให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เผาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น รวมถึงการติดเครื่องยนต์ในบ้านเป็นเวลานาน
- เลี่ยงพื้นที่เสี่ยง: หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองสูง การอยู่กลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานาน ในช่วงที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีปริมาณมากกว่า 26 – 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ให้สวมหน้ากาก N95 เพื่อป้องกันฝุ่น
- เสริมสร้างสุขภาพ: ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น ผักผลไม้ที่มีวิตามินซีและอี และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
ห้องสมุด มสธ. แหล่งข้อมูลเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
สำนักบรรณสารสนเทศ หรือ ห้องสมุด มสธ. เป็นแหล่งความรู้สำคัญในการสนับสนุนสุขภาพ เรามีทั้งหนังสือ บทความ และฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจและดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด library.stou.ac.th และยังมีบรรณารักษ์ที่พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำการค้นคว้าเพิ่มเติม
สุขภาพของคุณเริ่มต้นจากการดูแลตัวเอง ฝุ่น PM 2.5 อาจดูเหมือนปัญหาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากเราร่วมมือกันและปฏิบัติตามวิธีป้องกัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ หวังว่า Podcast EP. นี้จะช่วยให้ทุกคนเริ่มต้นดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายการอ้างอิง
กรมประชาสัมพันธ์. (2564, 10 มีนาคม). แนะวิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัย จากฝุ่นละออง PM 2.5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). https://www.thaihealth.or.th/แนะวิธีดูแลตัวเองให้ปล/
กรมอนามัย. (2563). คู่มือฉบับประชาชน การเฝ้าระวัง PM 2.5 อย่างไรให้ปลอดภัย. กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. https://hia.anamai.moph.go.th/web-upload/12xb1c83353535e43f224a05e184d8fd75a/filecenter/PM2.5/book103.pdf
กฤตไท ธนสมบัติกุล. (2566). สู้ดิวะ (พิมพ์ครั้งที่ 11). KOOB.
ธัญนรินทร์ ณ นคร (บ.ก.). (2563). ต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5. สำนักวิจัยอนุรักษ์ป่าไม้และพันธ์ุพืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช.
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา. (2567). สคร.9 แนะวิธี “รู้—ลด – เลี่ยง ป้องกันฝุ่น PM 2.5. กรมควบคุมโรค. https://ddc.moph.go.th/odpc9/news.php?news=48423&deptcode=odpc9
เรียบเรียงโดย
นางสาวเพ็ญพรรณ จารุสาร บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ