รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นยุคสมัยที่สตรีเริ่มมีบทบาทนอกบ้านมากยิ่งขึ้น ทั้งการแพร่ขยายของวัฒนธรรมตะวันตก รวมไปถึงโอกาสในการศึกษาที่มากขึ้น ส่งผลถึงความสามารถในการอ่านและเขียนภาษาต่างประเทศ การเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ทำให้สตรีสยามเริ่มมี “หูตากว้างขวาง” กับความเป็นไปของโลกมากยิ่งขึ้น กอปรกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีที่ทรงมี “บทบาทแบบสากล” มากยิ่งขึ้น ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” แห่งสยาม ที่ต้องเสด็จฯ พระราชพิธีต่าง ๆ และยังต้องเสด็จออกทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะชาวต่างประเทศ และตามเสด็จพระสวามี ทรงเยือนต่างประเทศ ซึ่งบทบาทอย่างสมเด็จพระราชินีของโลกตะวันตกเช่นนี้ส่งผลต่อแบบแผนการแต่งพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นอย่างมาก จึงใส่พระทัยในการแต่งพระองค์เป็นอย่างมาก เนื่องจากทรงตระหนักว่าความสวยงามนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนพระองค์ แต่เป็นเรื่องธรรมเนียมทางการทูต และภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้วย
หนังสือ “กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน” ได้กล่าวถึงพระราชนิยมการแต่งพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จากคำบอกเล่าของแพทย์หญิงชุลี ถาวรเวช บุตรีของคุณเชย (นางศักดิ์นายเวร) ข้าหลวงห้องพระบรรทม ซึ่งเล่าไว้ว่า
“แม่เป็นคนดัดพระเกศาถวายสมเด็จฯ เอาคีมร้อนเผาไฟ (เพื่อให้พระเกศาเป็นลอน) แม่เรียนตัดผม ตอนตามสมเด็จไปเมืองนอกครั้งแรก (ที่ฝรั่งเศส) …บางทีก็ทำมวยกล้วยหอม”
และเล่าเกี่ยวกับฉลองพระองค์ว่า “…ถ้าชุดออกงาน (สมเด็จฯ) ท่านเลือกเอง แต่ถ้าเสื้อทรงเล่นธรรมดา แม่จะเลือกแบบ รับแคตตาล็อคจากต่างประเทศ ท่านทรงสีตามวัน ถ้าออกงานหรูฟู่ฟ่า งานใหญ. จะให้ร้านเฟมิน่าตัด…”
แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันในการแต่งกายเพื่อให้สมพระเกียรติในยามทรงประกอบพระราชกรณียกิจเคียงข้างพระสวามี และสะท้อนให้เห็นว่าราชสำนักมีความเป็นสากลมากขึ้น เห็นได้จากพระราชนิยมในการฉลองพระองค์แบบสากลที่เรียบง่าย แต่สง่างามเหมาะควรแก่กาลสมัย สะท้อนอิทธิพลจากแฟชั่นตะวันตกในทศวรรษ 1920 ตลอดจนบริบททางสังคมของสตรีชั้นสูงในสยามที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะบทบาท “นอกบ้าน” ที่เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการที่ทรงตามเสด็จพระพระราชดำเนินทั้งในและต่างประเทศเกือบทุกครั้ง ฉลองพระองค์จึงได้รับการออกแบบเพื่อพระราชกรณียกิจนอกรั้ววังที่เพิ่มขึ้น
![](https://library.stou.ac.th/wp-content/uploads/2025/02/queen-rambhai-barni-2-723x1024.png)
![](https://library.stou.ac.th/wp-content/uploads/2025/02/queen-rambhai-barni-1-723x1024.png)
ทรงฉลองพระองค์อย่างถูกต้องตามกาลเทศะและสมกับพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชินีแห่งสยาม โปรดฉลองพระองค์ชุดกระโปรงสากลทรงหลวมยาวคลุมเข่า คอกว้างหรือคอสามเหลี่ยม เสื้อไม่มีแขนตามสมัยนิยม ตกแต่งชายฉลองพระองค์เป็นรูปโบว์ เครื่องประดับที่ทรง มักเป็นสร้อยพระศอไข่มุกเส้นยาว 2-3 เส้น และหากเป็นงานเต็มยศหรืองานพระราชพิธี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จะทรงฉลองพระองค์ที่งดงามประณีตยิ่งขึ้น ด้วยเครื่องประดับอันงดงามหลากหลาย เช่น สร้อยพระศอไข่มุก หรือสร้อยพระศอมรกต ประดับเพชรแบบยาวตามสมัยนิยม ทรงกลัดเข็มกลัดมรกตหลังเบี้ยประดับเพชรทับสายสะพาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ หรือฉลองพระองค์ราตรียาวแบบสากล ทรงเครื่องประดับชุดมรกตประดับเพชรขนาดใหญ่ ทรงสร้อยพระกรมรกตประดับเพชร พร้อมทั้งทรงกลัดเข็มกลัดมรกตรูปสี่เหลี่ยมและหยดน้ำ ประดับเพชรทับสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ กรณีที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 7 เยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ทั้งอินโดจีน ฝรั่งเศส ชวา ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ก็จะทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรงแบบสากล พร้อมทั้งทรงพระมาลาด้วย หากเสด็จประเทศที่มีอากาศหนาว ทรงฉลองพระองค์คลุม ฉลองพระองค์คลุมขนมิงค์ ถุงพระหัตถ์ ถุงพระบาท รวมไปถึงฉลองพระบาทส้นสูงตามสมัยนิยม
ทรงมีแบบแผนการแต่งพระองค์ “น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้” ผสมผสานความเป็นไทยกับตะวันตก อาทิ
- โปรดฉลองพระองค์ชุดกระโปรงสากล ทรงหลวมยาวคลุมเข่า คอกว้างหรือคอสามเหลี่ยม เสื้อไม่มีแขนตามสมัยนิยม ตกแต่งชายฉลองพระองค์เป็นรูปโบว์
- เครื่องประดับที่ทรงมักเป็นสร้อยพระศอไข่มุกเส้นยาว หากเป็นงานพระราชพิธีจะทรงเครื่องประดับอันปราณีตที่งดงามหลากหลาย
- เสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรงแบบสากล ทรงพระมาลา หากเสด็จเมืองหนาว ทรงฉลองพระองค์คลุมขนมิงค์ ถุงพระหัตถ์ และฉลองพระบาทส้นสูง
จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 แห่งสยาม ผู้นำเทรนด์แฟชั่นคนสำคัญแห่งยุคในการปรับเปลี่ยนแบบแผนฉลองพระองค์และเครื่องแต่งกายของสตรีสยาม ประกอบกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามา ส่งผลให้พื้นที่ของสตรีสยามไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แตในวัง หรือบ้านอีกต่อไป เป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อให้เครื่องแต่งกายของสตรีสยามได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามแบบสากล ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามนั้นเป็นชาติที่ “ศิวิไลซ์” มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
ผู้เรียบเรียง
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.