ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นเมื่อความร้อนบนโลกเริ่มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปในบรรยากาศมากขึ้นจะทำให้ความร้อนถูกกักเก็บไว้ในบรรยากาศโลกและไม่สามารถระเหยออกไปในอวกาศได้ ก๊าซเรือนกระจกทำหน้าที่ดูดซับความร้อนให้เหมาะสมช่วยรักษาระดับอุณหภูมิโลก ปริมาณก๊าซมากก็ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น
องค์ประกอบก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและมีมากในบรรยากาศโลก ได้แก่
1) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีปริมาณมากที่สุดในชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง
2) มีเทน (CH4) พบในชั้นถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เกิดจากการเกษตร การปลดปล่อยจากบ่อน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และการจัดการขยะ
3) ไนตรัส ออกไซด์ (N2O) เกิดจากการดำเนินกิจกรรม เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีในการเกษตร การเผาไหม้ การจัดการของเสีย เป็นต้น
4) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เกิดจากการใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและใช้ในอุตสาหกรรมโฟมและสารดับเพลิง
5) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน พบในการหลอมอะลูมิเนียมและผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า อยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 50,000 ปี
6) ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ พบมากในอุตสาหกรรมผลิตวงจรไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ ยางรถยนต์ ฉนวนไฟฟ้า เป็นต้น
7) ซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออร์ไรด์ พบมากในอุตสาหกรรมผลิตวงจรไฟฟ้า
ก๊าซเหล่านี้ที่มีมากขึ้นทำให้โลกเริ่มร้อนขึ้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การละลายของน้ำแข็งที่ขั้นสูง และระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และผลกระทบในวงกว้างที่ตามมาคือเรื่องสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น World Meteorological Organization หรือ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เปิดเผยว่า “มีความเป็นไปได้ 66% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้พื้นผิวโลกระหว่างปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2570 จะสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี และมีความเป็นไปได้ 98% ที่อย่างน้อย 1 ใน 5 ปีข้างหน้า และตลอดระยะเวลา 5 ปีจะร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์”
แล้วถ้าหากอุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลกระทบและทำให้เกิดความเสี่ยงของวิกฤตการณ์หลายอย่าง เช่น สัตว์สูญพันธุ์ การตายของแนวปะการัง การละลายตัวของธารน้ำแข็ง ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่สภาวะอากาศสุดขั้วต่าง ๆ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วมรุนแรง และสารพัดภัยพิบัติธรรมชาติ รวมไปถึงการขาดแคลนอาหารด้วย
ดังนั้น การลดอุณหภูมิแม้เพียง 0.1 องศาเซลเซียส ก็สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ด้วยการยุติการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน หรือก๊าซ และหันหน้าไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มกำลัง หรือจะเริ่มต้นได้จากตัวเราเองง่าย ๆ เช่น การแยกขยะ การลดใช้พลาสติก การลดใช้พลังงาน การปลูกต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งวิธีที่ยกตัวอย่างเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้ทุกคน
เรียบเรียงโดย นางสาวปวีณ์ธิดาเนตรหาญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
อ้างอิง
ไทยพับลิก้า. (2566, 18 พฤษภาคม). WMO ชี้อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มร้อนเกิน 1.5 องศา และทำลายสถิติในอีก 5 ปี. ไทยพับลิก้า. https://thaipublica.org/2023/05/global-temperatures-to-break-records-in-next-five-years/
นีรนัย. (2560). ภาวะโลกร้อน. https://elibrary-stoulib.cu-elibrary.com/rent/ebook/detail/e7f20357-b77b-44a4-b5ff-bef81e5b4482
ปัทมาสน์ ชนะรัชชรักษ์. (2566, 18 พฤษภาคม). อุณหภูมิโลกจ่อทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสภายในแค่ 5 ปี
วิกฤตอันตรายที่มนุษย์ไม่ควรมองข้าม. เดอะสแตนดาร์ด. https://thestandard.co/global-warming-to-breach-1-5-c/
ศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก. (2558, 6 สิงหาคม). เรือนกระจกตัวการโลกร้อน. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก https://www.pea.co.th/s1/เกี่ยวกับเรา/ผลการดำเนินงาน/งบการเงินและผลประกอบการ/ArtMID/4680/ArticleID/120672/ก๊าซเรือนกระจกตัวการโลกร้อน