รายการบรรณสารฯ ติดเล่า SS2 EP. 20 ได้เลือกหัวข้อมาเล่าที่เหมาะเจาะกับการเริ่มต้นใหม่ในปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ กับการตั้งเป้าหมายในชีวิตและวิธีการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่าเดิม พร้อมแนวทางง่าย ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
ตลอดทั้งปีนี้ที่ผ่านมา เราอาจทำอะไรด้วยความเคยชินแต่ถ้าเราอยากจัดการกับความเคยชินเราจึงควรใช้ความเด็ดขาด ทำให้สมองเราหยุดคิด เพื่อให้หลุดพ้นจากพฤติกรรมเดิม ครั้งเมื่อหลายคนเป็นวัยรุ่นอาจจะเคยทำตัวล่องลอยไปวันๆ มากกว่าตั้งใจใช้ชีวิต เพราะเมื่อทำอะไรแบบไม่จริงจังและเกียจคร้านก็ทำให้มีข้ออ้างว่า “ช่างปะไร ฉันไม่ได้ตั้งใจทำสักหน่อย” แต่เมื่ออายุมากขึ้นความล้มเหลวจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะนั้นคือคุณภาพชีวิตและความสามารถในการรับมือกับโลกรอบตัวของเรา แต่เราก็สามารถนำความล้มเหลวมาเป็นครูของตนเอง และเริ่มต้นใหม่กับตนเอง ทำสิ่งใหม่ ๆ และสิ่งที่เตือนใจไม่ว่าพฤติกรรมในอดีตของเราจะน่าผิดหวังขนาดไหน แต่หากเรายังทำเหมือนเดิม เราอาจย้อนกลับไปหามันได้ทุกเมื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานหรือเกิดขึ้นเมื่อ 5 นาทีก่อน ล้วนเป็นอดีต เราเริ่มต้นใหม่ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
7 ขั้นตอนง่าย ๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม
- หาให้เจอก่อนว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไร เลือกมาสัก 1-2 ข้อก่อน
- ตั้งเป้าหมาย ให้มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด วัดผลได้ และไม่ง่ายจนเกินไป แต่ไม่ยากจนเอื้อมไม่ถึงการตั้งเป้าหมายนี้ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของความสำเร็จ เลยก็ว่าได้ การทำงานใดๆ ก็ตามหากไม่มีเป้าหมาย มันก็เหมือนคนที่เดินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมาย การตั้งเป้าหมายจะทำให้เราเห็นปลายทางที่เราจะไปว่ามันเป็นอย่างไร แม้ว่าบางครั้งอาจไม่สามารถบรรลุผลได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็น่าจะใกล้เคียงแหละ
- เขียนลงในกระดาษ แล้วตั้งไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้ทุกๆ วัน เพื่อคอยย้ำเตือนตัวเอง อาจเขียนติดไว้ที่หัวเตียง หรือเขียนติดไว้ในสมุดบันทึก
- การแตกเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายย่อยๆ จะทำให้เราเกิดกำลังใจที่ไปถึงเป้าได้มากขึ้น เพราะเป้าหมายใหญ่มันอาจทำให้เรารู้สึกท้อ รู้สึกว่าห่างไกลเหลือเกิน แต่ถ้าเราแตกออกมาเป็นเป้าหมายย่อยๆ เมื่อทำเป้าหมายหนึ่งได้สำเร็จ มันจะทำให้เราเกิดกำลังใจที่จะทำเป้าหมายต่อๆ ไปได้
- ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน “คอมฟอร์ตโซนมันสบายแต่ก็เฉพาะตอนนี้” รักตัวเองให้ได้ก่อน ศรัทธาในตัวเอง รวบรวมความกล้าหาแรงบันดาลใจ สร้างวินัยให้กับตัวเอง
- ลงมือทำทันที
- วัดผล หากผลที่ได้ผิดไปจากเป้าหมาย พยายามเปลี่ยนวิธีการ หากไม่ได้จริงๆ ค่อยปรับเป้าหมายอภัยลักษณ์ ตันตระบัณฑิตย์ (2561)
แต่ทั้งนี้ในหลายเป้าหมายที่ตั้งไว้อาจมีเป้าหมายบางอันที่ไปไม่ถึง อย่างในช่วงปีใหม่เป็นเวลาที่หลายคนตั้งเป้าหมาย หรือทำลิสต์ New Year’s Resolution แต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสาเหตุมีได้หลายอย่าง
- ตั้งเป้าใหญ่เกินไปในช่วงเวลาที่จำกัด หนึ่งในข้อผิดพลาดที่คนเราทำเมื่อตั้งเป้าหมายคือความคิดที่ว่าอยากเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนใหม่ จะต้องตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ก่อน เช่น การตั้งเป้าหมายว่า “อยากเป็นคนหุ่นดี” นั้นดูกำกวมและวัดได้ยาก ว่าจุดไหนคือคำว่าหุ่นดี แต่หากเปลี่ยนเป็น “จะลดน้ำหนักสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน” จะช่วยให้เห็นภาพได้มากกว่าและมีแนวโน้มที่จะทำตามเป้าหมายได้มากกว่า
- โฟกัสกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป บางครั้งคนเราโฟกัสว่าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งและตั้งมั่นว่าจะทำให้ได้เท่านั้น แต่ชีวิตเรามีเหตุกาณ์เข้ามาตลอด เช่นถ้าตั้งเป้าว่าจะออกกำลังกายทุกวัน แต่วันหนึ่งเกิดป่วยขึ้นมา ไปออกกำลังกายไม่ได้ก็จะรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว เราควรปล่อยให้ตัวเองได้พักบ้าง หรือมีวันที่ทำไม่ได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกวัน แต่ภาพรวมทำได้มากขึ้นกว่าเดิมก็เพียงพอ
- โฟกัสที่ “เป้าหมาย” (Outcome) แทนที่การโฟกัสที่ “กระบวนการ” (Process) การโฟกัสที่เป้าหมาย มีผลลัพธ์ 2 อย่างคือ เมื่อไปถึงเป้าหมาย=>จะรู้สึกสำเร็จ แต่ทำตามเป้าหมายไม่ได้ =>จะรู้สึกล้มเหลว ควรตั้งเป้าหมายที่ช่วยให้เราโฟกัสกับกระบวนการ โฟกัสที่ภาพรวมไม่ให้กดดันตัวเองจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องรู้สึกล้มเหลวเวลาสร้าง New Year’s Resolution เหมือนที่เฮนรี่ เดวิด ธอโร เคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่คุณได้จากการทำเป้าหมายให้สำเร็จ ไม่สำคัญเท่าคนที่คุณเป็นจากการบรรลุเป้าหมายนั้น”
นอกจากการเริ่มต้มใหม่และสร้างเป้าหมายแล้ว ส่วนสำคัญอีกอย่างคือเริ่มต้นสร้างความสุขเพราะความสุขไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เราต้องค้นหาเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นเองได้ผ่านการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิถีชีวิต การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ รอบตัวสามารถนำพาเราไปสู่ความสุข
แนะนำวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยเริ่มต้นสร้างความสุขในชีวิตประจำวัน ให้ทุกวันเต็มไปด้วยรอยยิ้มและพลังบวก
- เลือกสิ่งที่ทำให้รู้สึกใจเต้น โดยไม่สนใจเรื่องผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการใช้เงิน ระหว่างซื้อของที่อยากได้กับการใช้เงินไปกับกิจกรรมนันทนาการอย่างท่องเที่ยวหรือกีฬา คุณคิดว่าเลือกแบบไหนดีกว่ากัน ความสุขที่เกิดจากประสบการณ์หรือความทรงจำที่สนุกสนานจากกิจกรรมนันทนาการจะรักษาไว้ได้ง่ายกว่า ดังนี้ คนที่ใช้เงินไปกับกิจกรรมนันทนาการจึงมีความสุขมากกว่า นอกจากนี้ การใช้เงินไปกับการเรียนรู้ทักษะต่างๆ ก็ช่วยให้ความสุขคงอยู่ได้ยาวนานเช่นกัน
- ลองเปลี่ยนกลิ่นหอมที่อยู่รอบตัวดู เริ่มต้นจากการหาว่าตัวเองชอบกลิ่นแบบไหน จากนั้นก็ลอนำน้ำหอมกลิ่นนั้นมาหยดลงบนผ้าเช็ดหน้าเล็กน้อยแล้วพกติดตัวไว้ คุณสามารถเรียนรู้เรื่องนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ด้วยการศึกษาเกี่ยวกับกลิ่นบำบัดแล้วเลือกใช้กลิ่นตามความรู้ที่ศึกษามา เพียงเท่านี้คุณก็สามารถใช้เวลาแต่ละวันอย่างมีความสุขแน่นอน
- เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ ให้ออกห่างจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น ความรู้สึกแบบโกรธสุดๆ อยู่ได้นานสุดแค่ 6 วินาทีเท่านั้น หากผ่านพ้นช่วงเวลาไม่กี่วินาทีนี้ไปได้ เราก็จะสามารถรับมืออีกฝ่ายโดยที่ไม่ใช้อารมณ์ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ “ หายใจลึกๆ” คนเราเมื่อเวลาโกรธจะหายใจตื้น กลับกันถ้าคุณหายใจลึกๆ ก็จะช่วยให้จิตใจสงบลงได้
- กินอาหาร ออกกำลังกาย และนอนหลับอย่างเพียงพอ การเริ่มดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้สบายในวันข้างหน้า ซากุราอิ เอริโกะ (2016)
ทุกคนสามารถนำวิธีเหล่านี้ไปเริ่มต้นสร้างเป้าหมายใหม่และเติมเต็มความสุขในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าคุณจะเลือกเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือสร้างความสุขเล็ก ๆ รอบตัว ทุกย่างก้าวที่ลงมือทำล้วนมีความหมาย อย่าลืมว่าความสำเร็จและความสุขเริ่มต้นได้จากการลงมือทำวันนี้
ชญานิน ฟุ้งสถาพร (2566). ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้. DOT.
ซากุราอิ เอริโกะ (2563). Disneyland ทำอะไร ทำไมใครๆ ก็หลงรัก. วีเลิร์น.
อภัยลักษณ์ ตันตระบัณฑิตย์. (2561). Look good ดูดี ชนะใจ ทำอะไรก็ชนะ. บริษัท ไอแอมเดอะเบสท์.
Ryan, H &Stephen, H. (2566). สโตอิกรายวัน = The daily stoic. วีเลิร์น.
เรียบเรียงโดย
นางสาวภัทรภร พื้นพรหม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ