“วันปีใหม่” ทำไมต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เคยสงสัยกันไหมว่า โลกของเรามีหลายประเทศ หลายวัฒนธรรม แต่ละประเทศก็มีการนับวันขึ้นปีใหม่เฉพาะที่ต่าง ๆ กันไป อย่างไทยก็นับว่าวันสงกรานต์เป็นปีใหม่ของไทย ในขณะที่จีนก็มีเทศกาลตรุษจีน แต่ทำไมเราถึงร่วมฉลองปีใหม่สากลด้วยกันในวันที่ 1 มกราคม
“วันขึ้นปีใหม่” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุเอาไว้ว่าคำว่า “ปี” หมายถึง ระยะเวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง โดยใช้เวลาราว 365 วัน หรือ 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้นคำว่าวันขึ้นปีใหม่ จึงหมายถึงวันแรกของการโคจรของโลกในรอบใหม่เริ่มแรกนั้น
ส่วนจุดเริ่มต้นของ “วันปีใหม่สากล” ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 4,000 กว่าปีที่แล้ว ในยุคสมัยของชาวบาบิโลน (Babylon) ชาวบาบิโลนได้คิดค้นการใช้ปฏิทินขึ้นโดยคำนวณจากการเคลื่อนที่วงรอบของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เรียกว่า “จันทรคติ” (Lunar calendar/)) เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดให้เป็น 1 ปี ต่อมาเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี
เมื่อถึงยุคอียิปต์ กรีก และโรมัน รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ มีการนำปฏิทินของชาวบาบิโลนปรับปรุง จนกระทั่งในสมัยของจักรพรรดิ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ได้มีการนำความคิดและหลักความเชื่อเรื่อง “จักรราศี” (Zodiac/) ตามหลัก “สุริยคติ” (Solar Calendar) ของอียิปต์มาผสมผสานกับจันทรคติในแบบเดิม ทำให้ในหนึ่งปีมี 365 วัน จึงกำเนิดเป็น “ปฏิทินจูเลียน” (Julian calendar) โดยทุก 4 ปี จะให้เติมวันในเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือ เดือนกุมภาพันธ์ โดยปฏิทินเวอร์ชั่นนี้มีการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันแรกของปี เพื่อให้สอดคล้องกับวงจรของดวงอาทิตย์และฤดูกาลต่างๆ
ในปี ค.ศ.1582 พระสันตะปาปาเกรกอรี ที่ 13 (Pope Gregory XIII) ได้ทำการปฏิรูปปฏิทินใหม่เพื่อแก้ไขความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจูเลียน ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า “ปฏิทินเกรกอเรียน” โดยปฏิทินเกรกอเรียนกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่เช่นเดิม และเนื่องจากการขยายอาณานิคมและอิทธิพลของชาวยุโรปไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก มาถึงฝั่งทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรี่ยนตาม และในที่สุด ปฏิทินเกรกอเรี่ยนก็กลายเป็นปฏิทินสากลของโลกยุคปัจจุบัน
แม้ว่า วันที่ 1 มกราคมจะกลายเป็น “วันขึ้นปีใหม่สากล”จากการปฏิรูปของจูเลียส ซีซาร์ในสมัยโรมัน และการยอมรับใช้ปฏิทินเกรกอเรียนในภายหลัง ทำให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ชาติที่เคยนับช่วงปีใหม่แบบอื่นมาก่อนก็ยังคงรักษาวันปีใหม่ตามธรรมเนียมดั้งเดิมของตนไว้อยู่ เช่น
– วันตรุษจีนในประเทศจีน ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน
– ซอลลัล หรือ วันตรุษเกาหลี ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ
สำหรับในประเทศไทยนั้น เดิมทีเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตรงกับ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามคติทางพุทธศาสนา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำเอาคติพราหมณ์ฮินดูที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาจากประเทศอินเดีย ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เดือนเมษายน) หรือ วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนรอบปีนักษัตรให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนถึงสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศ จึงได้ออกพระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช 2483 ประกาศให้ยึดวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในช่วงเทศกาลวันปีใหม่นี้ เป็นช่วงเวลาที่เต็มด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งในเชิงสังคม, ศาสนา, และวัฒนธรรม มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การให้ของขวัญ การทำบุญ ตักบาตร บริจาคสิ่งของ การตั้งเป้าหมายในชีวิต หรือแม้กระทั่งการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองและเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความหวังและความสุข ขณะเดียวกัน วันขึ้นปีใหม่ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ และเป็นโอกาสที่ผู้คนจะสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายใหม่ๆ สำหรับอนาคต วันปีใหม่จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงตัวเลขในปฏิทิน แต่ยังเป็นการเริ่มต้นใหม่ทางจิตใจ การสร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้กับชีวิตในปีถัดไป ทั้งในด้านส่วนตัวและสังคม
รายการอ้างอิง
บุญเตือน ศรีวรพจน์, ธนโชติ เกียรติณภัทร, และ ศศิวิมล สันติราษฎร์ภักดี. (2564). ประเพณีสงกรานต์ .กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554. ราชบัณฑิตยสถาน.
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (26 ธันวาคม 2562).วันขึ้นปีใหม่สากลของชาวโลก-ชาวไทย.
Anthony F. Aveni. (2003). The Book of the Year : A Brief History of Our Seasonal Holidays. Oxford University Press.
เรียบเรียงโดย
นางสาวภัทรศยา สนองผัน บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ