๔๙
เหรียญที่ระลึกงานเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี พ.ศ. 2475

เหรียญที่ระลึกจัดได้ว่าเป็นหลักฐานขั้นต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเช่นเดียวกับจารึกหรือพงศาวดาร ซึ่งเหรียญที่ระลึกเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง ของพระมหากษัตริย์หรือบุคคลสำคัญ เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อในโอกาสการฉลองเฉลิมครอบรอบ 150 ปี ของกรุงรัตนโกสินทร์มีหลากหลายเหรียญ ได้แก่ เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี (สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกเพื่อประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์) เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี (สำหรับผู้บริจาคสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์) เหรียญที่ระลึกการเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า เหรียญที่ระลึกในการสมโภชพระนคร 150 ปี และเหรียญพระแก้วมรกต 150 ปี

เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี (สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกเพื่อประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์)

         เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกเพื่อประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยกำหนดให้มีการทำเป็นเหรียญกะไหล่ทอง เหรียญกะไหล่เงิน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกระแสพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้คิดแบบเหรียญที่ระลึก สำหรับพระราชทานในงานเฉลิมพระนคร 150 ปี

            ด้านรูปแบบการออกแบบเหรียญนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงยึดแบบจากเหรียญสตพรรษามาลา ที่ทรงเคยออกแบบเมื่อ รศ. 100 (พ.ศ. 2424) ดังนั้นเหรียญที่ระลึกนี้จึงมีการนำพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซ้อนที่ด้านหน้าด้วยพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมิได้ทรงเครื่องฉลองพระองค์ ทว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องฉลองพระองค์จอมพลแบบสนาม รายละเอียดของเครื่องนั้นจะช่วยขับเน้นให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเด่นแล้วนั้น ยังแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ด้านการทรงเครื่องของกษัตริย์ไทยอีกประการหนึ่ง

ด้านพระนามที่จะปรากฏบนเหรียญนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกราบทูลขอประทานพระราชวินิจฉัยต่อรัชกาลที่ 7 โดยได้มีการแก้ไขให้ตรงตามพระราชหฤทัย และท้ายสุดได้มีการถวายภาพร่างขนาดเท่าจริงประกอบการตัดสินพระราชหฤทัย โดยการนี้กรมราชเลขาธิการได้มีหนังสือตอบกลับมายังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า

“…ทรงโปรดแบบเหรียญที่เขียนพระนามด้านหน้าว่า พระพุทธยอดฟ้า และลายด้านหลังเป็นลายกลีบบัว…”

อ้างอิงจาก เอกสารจดหมายเหตุ “การทำเหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานในงานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครครบรอบ 150 ปี.” (เอกสารจดหมายลายลักษณ์, กรมศิลปากร, (4)ศธ 2.1.1/76, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

           

เมื่อได้แบบที่ต้องพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 7 แล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงได้เริ่มดำเนินการทรงมอบหมายให้ศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี (อาจารย์ศิลป์ พีระศรี) นายช่างปั้นแห่งศิลปากรสถานเป็นผู้รับหน้าที่ปั้นเหรียญที่ระลึก และเมื่อถึงขั้นตอนการผลิตเหรียญนั้นด้วยความเห็นของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เห็นว่า การทำเหรียญในเมืองไทยนั้นยังไม่มีอุปกรณ์และกรรมวิธีที่ไม่ดีพอ อีกทั้งยังมีราคาการผลิตที่สูง เห็นควรสั่งไปทำที่ต่างประเทศ รัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำรัสตอบกลับในเรื่องการทำเหรียญที่ระลึกนี้ว่าควรส่งไปทำที่ยุโรป และสั่งให้ทำมา 2 อย่าง เป็นเหรียญเงินและเหรียญกะไหล่ทอง

          

แพรแถบสำหรับใช้ร้อยเหรียญที่ระลึก ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ภาพจาก: เอกสารจดหมายเหตุ “การทำเหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานในงานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครครบรอบ 150 ปี.” (เอกสารจดหมายลายลักษณ์, กรมศิลปากร, (4)ศธ 2.1.1/76, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

จุดเด่นอีกอย่างของเหรียญที่ระลึกนี้ คือ แพรแถบที่ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งออกแบบขึ้นโดยอ้างอิงตามเหรียญที่เคยปรากฏขึ้นแล้ว และประกอบด้วยสีพระชนมวารแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 7 และทูลเกล้าถวายแบบแพรแถบ 13 แบบ เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 ต่อมาเจ้าพระยามหิธรได้ส่งหนังสือถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2473 ความว่า

“ทรงโปรดแบบชนิดริมเขียว กลางเป็นรุ้งสีเหลือง ดังที่ได้หมายสำคัญไว้ ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าจะทอได้ในเมืองไทย”

อ้างอิงจาก เอกสารจดหมายเหตุ “การทำเหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานในงานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครครบรอบ 150 ปี.” (เอกสารจดหมายลายลักษณ์, กรมศิลปากร, (4)ศธ 2.1.1/76, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

           

ภาพจาก: พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์

ลักษณะ เหรียญกะไหล่ทองและกะไหล่เงิน ลักษณะเหรียญกลมแบน
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.0 เซนติเมตร
แพรแถบ มีห่วงสำหรับร้อยแพรแถบสีเขียว กลางเป็นรุ้งสีเหลือง
ด้านหน้า แสดงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาลเหลื่อมกัน คือ รัชกาลปฐม (รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 7) ซ้อนกัน พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 อยู่เยื้องด้านในไม่ทรงฉลองพระองค์ รัชกาลที่ 7 ทรงเครื่องแบบจอมพลแบบสนามอยู่ด้านนอก ขอบเหรียญมีอักษรพระปรมาภิไธยรัชกาลปฐมว่า “พระพุทธยอดฟ้า” และ “พระปกเกล้า”
ด้านหลัง ในวงลายขอบเป็นกลีบบัว มีอักษรบอกงานและศักราชเริ่มสร้างถึงปัจจุบันว่า “เฉลิมพระนครร้อยห้าสิบปี พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๔๗๕”

สำหรับการพระราชทานเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี นั้นมีหลักเกณฑ์ได้รับมอบ ดังนี้
1. เหรียญกะไหล่ทอง

  • ข้าราชการฝ่ายหน้าชั้นนายพล และมหาอำมาตย์
  • ข้าราชการฝ่าย และสตรีบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นที่ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า

2. เหรียญกะไหล่เงิน

  • หม่อมราชตระกูลและหม่อมราชวงศ์ เฉพาะที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัด
  • ข้าราชการฝ่ายหน้า ตั้งแต่ชั้นยศอำมาตย์เอกลงไปจนถึงราชบุรุษและขุนหมื่นประทวนกับข้าหลวงน้อยชั้นเจ้า กรมปลัดกรมสมุหบัญชี เฉพาะที่มีบรรดาศักดิ์
  • ข้าราชการฝ่ายใน ขั้นต่ำกว่าที่ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าลงไปจนถึงขั้นพนักงานที่ได้รับพระราชทายเบี้ยหวัด และสตรีบรรดาศักดิ์เพียงชั้นที่ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์
  • นักเรียนนายร้อยทหารบก นักเรียนนายเรือ และนายช่างกล สำหรับชาวต่างประเทศซึ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับพระราชทาน ให้เจ้ากระทรวงเทียบกับตำแหน่งข้าราชการไทย ข้าราชการนอกตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานบำนาญอนุโลมอย่างผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง

เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี (สำหรับผู้บริจาคสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์)

         การเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี มีพระบรมราชโองการโปรดให้สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ ซึ่งมีการบอกบุญเรี่ยไรแก่ประชาชน โดยการเรี่ยไรเงินเพื่อนำมมาสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นั้น ได้มีการพิจารณาถึงสิ่งตอบแทนเป็นที่ระลึกถึงความศรัทธา และให้ความร่วมมือแก่รัฐบาล ซึ่งการจัดทำสิ่งของตอบแทนน้ำใจผู้บริจาคเงินสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ เป็นพระราชดำริเดิมของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช นายกกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์องค์แรกได้รับสั่งไว้ในที่ประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2471

ท้ายสุดการประชุมได้ลงมติว่าควรจะทำเหรียญสำหรับแจกแก่ผู้บริจาค แต่ทำขนาดให้แตกต่างกับเหรียญที่ระลึกที่จะพระราชทานแก่ข้าราชการ ดังนั้นจึงมีเหรียญซึ่งสร้างขึ้น 3 ชนิด คือ

  1. เหรียญกะไหล่เงินและกะไหล่ทอง ขนาดเท่าเหรียญบาท (ในรัชกาลที่ 7) มีหูติดริบบิ้นสำหรับติดอกเป็นเหรียญสำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการ เป็นเหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีฉลองพระนครเท่านั้น
  2. เหรียญบรอนซ์มีขนาดเท่าเหรียญดอลลาร์ (Dollar) สำหรับแจกแก่ผู้บริจาคไม่ต่ำกว่า 500 บาท
  3. หรียญบรอนซ์ ขนาดเท่าเหรียญ 50 สตางค์ (ในรัชกาลที่ 7) สำหรับแจกแก่ผู้บริจาคเงินไม่ต่ำกว่า 10 บาท

            เหรียญที่ระลึกเพื่อเป็นของสมนาคุณสำหรับผู้บริจาคเงินจึงมีลักษณะเหมือนกับเหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกเพื่อประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่แต่งต่างกันที่ชนิดและขนาดของเหรียญ
ลักษณะ เหรียญบรอนซ์กลม
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.9 เซนติเมตร และ 2.4 เซนติเมตร ไม่มีห่วงคล้องเหรียญทั้ง 2 ขนาด
ด้านหน้า แสดงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซ้อนกัน พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 อยู่เยื้องด้านในไม่ทรงฉลองพระองค์ รัชกาลที่ 7 ทรงเครื่องแบบจอมพลแบบสนามอยู่ด้านนอก และขอบเหรียญมีอักษรพระปรมาภิไธยรัชกาลปฐมว่า “พระพุทธยอดฟ้า” และ “พระปกเกล้า”
ด้านหลัง ในวงลายของเป็นกลีบบัวมีอักษรภายในว่า “เฉลิมพระนครร้อยห้าสิบปี พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๗๕”

เหรียญที่ระลึกการเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า

เหรียญที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า สร้างขึ้นโดยบริษัท ดอร์แมนลอง จำนวน 70 เหรียญ เมื่อ พ.ศ. 2475 และทางบริษัทได้ถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ดังข้อความในหนังสือกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ที่ ก.18/75 ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2475 ถึงมหาเสวกเอกเจ้าพระยามหินธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร (กรมราชเลขาธิการ) ความว่า

“ด้วยนายเจ.รัก (J.Ruck) ผู้แทนบริษัทดอรแมนลองได้กลับเข้ามากรุงเทพฯ อีกเนื่องด้วยการพระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครและเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ได้มอบเหรียญที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าไว้ให้แก่ฉัน 70 เหรียญ เหรียญเหล่านี้ฉันเห็นควรจะให้ไว้แก่เจ้าหน้าที่ ที่ได้ช่วยเหลือในการนี้เป็นที่ระลึก เช่น กรรมการที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณในการก่อสร้างสะพาน ทั้งที่ยังคงอยู่บัดนี้และออกจากราชการไปแล้ว รวมทั้งนายช่างทุกคน ฉันเห็นว่าถ้าทางกรมราชเลขาธิการเป็นผู้จัดส่งไปให้จะงดงามดีกว่าที่จะส่งจากกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เพราะฉะนั้นจึงขอส่งเหรียญที่กล่าวมานี้มายังเจ้าคุณ 60 เหรียญ ถ้าขาดเหลือจะได้ส่งมาเพิ่มให้อีก”

         ในเวลาต่อมากระทรวงมุรธาธร (กรมราชเลขาธิการ) ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเหรียญ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 มีผู้ได้รับแจกทั้งหมด 66 ราย เป็นจำนวน 66 เหรียญ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 เหรียญ และส่งให้กับพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครจำนวน 1 เหรียญ

ลักษณะ เหรียญเงินกลมแบน  ขอบเรียบ 
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 57 มิลลิเมตร 
ด้านหน้า เป็นรูปสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่ในวงกรอบ  นอกวงกรอบเบื้องบนมีอักษรภาษาอังกฤษจารึกว่า “PHRA BUDDHA YOD FA” เบื้องล่างจารึกว่า  “MEMORIAL BRIDGE BANGKOK”
ด้านหลัง มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า

“COMMENCED NOVEMBER 20th 1929
COMPLETED JUNE 4th 1931
TOTAL LENGTH 754 FT.
DOUBLE LEAF BASCULE SPAN 260 FT.
TWO FIXED SPANS OF 247 FT. EACH
DESIGNED AND BUILT BY
DORMAN,LONG &CO.LTD.,ENGLAND
UNDER THE SUPERVISION OF
H.R.H. PRINCE PURACHATRA
OPENED APRIL 6th 1932
BY
H.M. KING PRAJADHIPOK”

เหรียญที่ระลึกในการสมโภชพระนคร 150 ปี

เนื่องจาก พ.ศ. 2475 เป็นปีที่พระนครครบรอบ 150 ปี ในโอกาสนี้ นางสอาด ศิริสัมพันธ์ ซึ่งเป็นช่างทองได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างเหรียญที่ระลึกเพื่อจำหน่ายและนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบสมทบทุนในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาต และได้มีพระราชหัตถเลขาชมเชยฝีมือและความคิด ทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปยังกระทรวงกลาโหม ให้นายทหารตลอดจนนายสิบประดับเหรียญนี้ได้เช่นเดียวกับเสมาที่ได้รับพระราชทาน

ลักษณะ เหรียญเงิน เหรียญทองแดงชุบทอง กลมแบนขอบเรียบ ด้านบนมีห่วง
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร
ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 7 ในราชวงศ์จักรี พระพักตร์ตรง
ด้านหลัง เป็นรูปวัดพระศรีรัตนศาสดารามทิศเหนือ เบื้องล่างมีข้อความว่า “ที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร ครบ ๑๕๐ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕”

เหรียญพระแก้วมรกตในการสมโภชพระนคร 150 ปี

การปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้วิธีหาทุนดำเนินการเช่นเดียวกับการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ คือ บอกบุญเรี่ยไรบริจาคจากประชาชนทั่วไปมาร่วมสมทบทุนในการปฏิสังขรณ์  โดยรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชศรัทธาอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนให้เป็นทุนในการปฏิสังขรณ์ รัฐบาลออกอีกส่วนหนึ่ง ที่เหลือได้เปิดรับบริจาค เพื่อเปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้บำเพ็ญกุศลร่วมกันตามแต่ศรัทธา โดยผู้ที่ร่วมสมทบทุนในการปฏิสังขรณ์ จะได้รับของที่ระลึกสำหรับผู้บริจาค คือ เหรียญพระแก้วมรกต

ลักษณะ เหรียญทองคำ เงิน ทองขาว (นิเกิล) และทองแดง กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า ภายในเรือนแก้วเป็นรูปพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต ปางสมาธิประทับนั่งบนฐานบัวหัวคว่ำบัวหงาย มีผ้าทิพย์ห้อย และมีดอกไม้อยู่โดยรอบ
ด้านหลัง เป็นรูปยันต์กงจักร มีอักษรจารึก มรรค 8 ที่ริมขอบเหรียญบางเหรียญจะมีชื่อบริษัทผู้ผลิตดังนี้ เพาะช่าง สุวรรณประดิษฐ์ นาถาจารุประกร ฮั่งเตียนเว้ง และ Geoeges Hantz Geneve U.G.D.

กรมธนารักษ์. (2525). เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ ๒๓๒๕ – ๒๕๒๕. ศรีบุญพับลิเคชั่น.
ปวีณา สุธีรางกูร. (2562). ศิลปกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. สถาบันพระปกเกล้า.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. (ม.ป.ป.). เหรียญที่ระลึกในการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า. www.stou.ac.th/link/mQJoW

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน