พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เวลา 13.45 น. ณ พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายหลังจากทรงสละราชสมบัตินั้น ทรงใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม คือ “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” และทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระประยูรญาติ และข้าราชบริพารดั้งเดิมในพระองค์จำนวนไม่มาก เนื่องด้วยรัฐบาลสั่งให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯ กลับประเทศไทย และไม่ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
พระราชกระแสถึงข้าราชการ ณ วาระสุดท้ายแห่งรัชกาล
ภายหลังทรงสละราชสมบัติในวาระสุดท้ายแห่งรัชกาล 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชโทรเลขจากประเทศอังกฤษ อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งถึงข้าราชการในพระราชสำนัก เพื่อทรงขออภัยในเหตุแห่งการสละราชสมบัติ ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า ถ้าอภัยให้ได้ ในการที่ได้ละทิ้งไปเสียในเวลานี้แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ถูกและเป็นความยุตติธรรม ข้าพเจ้าไม่สามารถจะทำตนให้ต่ำลง และครองชีวิตอยู่ได้ตลอดไปด้วยความอัปประยศเพื่อว่าจะได้ครอบครองราชย์สมบัติสืบไป…”
ทรงมีพระขันติธรรม
เมื่อพำนักอยู่ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ราชเลขานุการในพระองค์ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องทรงใช้พระขันติธรรมว่า
“…ทรงอดทนทุกอย่าง แม้ภายหลังที่ทรงสละราชย์แล้ว คนไทยในต่างประเทศยังวางตัวไม่ถูกเมื่อพบกับพระองค์ท่าน เพราะสถานการณ์ตอนนั้นปั่นป่วน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หากถวายความเคารพ หรือ “คบค้าสมาคม” กับพระองค์ท่าน อาจมีภัยถึงตัวและครอบครัวหรือไม่ จนถึงกับเคยรับสั่งด้วยความเสียพระทัยว่า “เรามันหมาหัวเน่า คนเห็นก็หนีหมด”
ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารที่ภัตตาคารจีน พอเสด็จฯ เข้าไป คนไทยหลายคนที่นั่งกันอยู่ ซึ่งก็รู้จักอยู่แล้ว ต่างก้มหน้ามองจานกันหมด ทอดพระเนตรปั๊บก็ไม่ทรงทราบว่าจะทำอย่างไร และทรงเห็นใจที่เขาทำตัวไม่ถูก”
ทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างสงบสุขและสันโดษ
นอกจากนี้ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งประทับอยู่ประเทศอังกฤษหลังทรงสละราชสมบัติ ว่า
“…พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีทรงดำเนินพระชนม์ชีพอย่างสงบสุขและสันโดษ ทรงทำสวน และปลูกดอกไม้นานาชนิด และทรงทดลองปลูกพืชโดยไม่ต้องลงดินด้วย บางครั้งก็จะเสด็จประพาสต่างประเทศบ้าง เพื่อทรงพักผ่อนสำราญพระอิริยาบถ หากยังมีเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนพระราชหฤทัยอยู่เนืองๆ อันเป็นผลจากการกระทำและคำกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีของรัฐบาลไทยสมัยนั้น แต่ก็ทรงพยายามต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และทรงยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นอย่างดุษณียภาพ และด้วยขัตติยมานะ ภายในพระราชหฤทัยจะรู้สึกทุกข์ทรมานเพียงใดกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ยากนักที่คนภายนอกจะล่วงรู้ได้ นอกจากพระองค์ท่านเอง…“
แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 7 ทรงดำเนินพระชนม์ชีพในประเทศอังกฤษอย่างเรียบง่าย ทรงพยายามประหยัดรายจ่าย แต่ยังทรงรักษาพระเกียรติยศเพื่อมิให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่นในฐานะอดีตพระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่อทรงพิจารณาว่าพระตำหนักโนลเป็นตึกใหญ่ทึบ ไม่เหมาะกับพระอนามัยและราคาค่าเช่าสูง จึงมีพระราชดำริแปรพระราชฐานเปลี่ยนพระตำหนักในอังกฤษหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อจำกัดและสถานการณ์
พ.ศ. 2478 – 2480 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์ (Glen Pammant) ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) โดยชื่อพระตำหนักมีความหมายลึกซึ้งเมื่อทรงสลับอักษรเป็นคำว่า “TAM PLENG MAN” หรือ ตามเพลงมัน หมายความว่า แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น แสดงถึงการทอดพระอาลัยในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพระองค์ท่าน
ทรงโปรดใช้เวลาว่างยามบ่ายพระดำเนินเล่นสวนไม้ดอกและป่าละเมาะด้านหลัง ทรงพระอักษร ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และนวนิยาย ในฤดูร้อนทรงกีฬากอล์ฟและเทนนิส แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศค่อนข้างหนาว ส่งผลทำให้พระอาการประชวรหนักขึ้น
ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเป็นกันเอง
พ.ศ. 2480 – 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ท (Vane Court) ตำบลบิดเดนเดน (Biddenden) มณฑลเคนท์ (Kent) ทั้งสองพระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างเรียบง่ายแบบสามัญชน พระราชกิจประจำวันที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด คือ เสด็จลงทำสวน ปลูกดอกไม้ ดอกไม้ที่ทรงโปรด คือ ดอกคาร์เนชั่น ซึ่งในช่วงฤดูร้อนสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงตัดและปักดอกคาร์เนชั่นใส่แจกันไว้ตามห้องต่าง ๆ ในพระตำหนักทุกวัน นอกจากนี้ทรงเลี้ยงเป็ดเทศและปลาหลากหลายพันธุ์
พระตำหนักเวนคอร์ทเป็นที่ประทับที่ทรงโปรดและทรงผูกพันเป็นอย่างมาก ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเป็นกันเอง บางวันมีคนไทยและนักเรียนไทยในอังกฤษมาเข้าเฝ้าฯ ทรงประทับที่พื้นสนามร่วมกับคนอื่น ทรงร่วมแข่งขันเทนนิส และทรงร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์กับกลุ่มนักเรียนไทยในอังกฤษ
ทรงปฏิบัติองค์เยี่ยงสามัญชน
พระองค์ทรงปฏิบัติแบบสามัญชน ทั้งทรงจักรยานไปซื้อของ พระราชดำเนินเล่นตามถนนในหมู่บ้าน และเสวยพระกระยาหารที่ร้านกาแฟประจำหมู่บ้าน ทำให้ทรงเป็นที่รักของชาวบ้าน ซึ่งได้ปรากฎข่าวของพระองค์ในหนังสือพิมพ์ Sunday Dispatch ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1939 (พ.ศ. 2481) รายงานว่า
“…บรรดาชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ต่างรักและเทิดทูนพระองค์ด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณ พวกเขาได้เฝ้าฯ บ่อย ๆ เพราะแทนที่จะทรงสั่งซื้อของและให้ร้านในเมืองไปส่งที่พระตำหนัก กลับทรงจักรยานตามถนนเล็ก ๆ ของหมู่บ้าน เพื่อทรงจับจ่ายจากร้านในหมู่บ้าน โดยทรงคำนึงถึงความเป็นธรรมมาก เพราะสัปดาห์หนึ่งจะทรงซื้อของที่ร้านหนึ่ง อีกสัปดาห์หนึ่งที่อีกร้านหนึ่ง โปรดที่จะทรงซื้อช็อคโกแล็ตที่ร้านกาแฟประจำหมู่บ้านทำเองและบางครั้งเสวยพระกระยาหารมื้อย่อม ๆ ที่ร้านนั้นด้วย
ในช่วงฤดูร้อน ทรงพระกรุณาทำหน้าที่ ‘มูลนาย’ (Squire) ประจำหมู่บ้าน โดยทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานถ้วยรางวัลในงานประกวดดอกไม้ และงานแข่งม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ‘มูลนาย’ พระองค์นี้ทรงรถยนต์แทนที่จะทรงม้าล่าสัตว์อย่างมูลนายอังกฤษดั้งเดิมทั้งหลาย นอกจากนั้นยังทรงเป็นขวัญใจของพวกเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน แม่หนูโอล์เว่น โจนส์ (Olwen Jones) วัย 4 ขวบ อวดตุ๊กตาตัวใหญ่ซึ่งเธอได้รับพระราชทาน เธอจะถวายบังคม (Salaam) ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ เธอพูดคำภาษาไทยที่ทรงสอนเธอได้หลายคำ เช่น ‘มือเปื้อน’ หรือ ‘น้ำชา’ และชื่อวันต่าง ๆ ในสัปดาห์…”
ช่วงที่ประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ท รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์พระราชประวัติของพระองค์เอง โดยทรงวางแผนว่าจะทรงเล่าตั้งแต่สมัยยังทรงพระเยาว์ถึงทรงสละราชสมบัติ ด้วยต้องพระประสงค์จะให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบ น่าเสียดายที่พระโรคทำให้ทรงพระนิพนธ์ได้ถึงเมื่อทรงมีพระชนมพรรษา 25 พรรษา เท่านั้น
พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน (Compton House) ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) เพื่อความปลอดภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะพระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ใกล้กับช่องแคบอังกฤษ ทรงคาดว่าจะถูกกันเป็นเขตป้องกันประเทศของทหาร แต่การดำรงพระชนม์ชีพในภาวะสงครามมีความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร ทั้งยังต้องระวังภัยทั้งทางอากาศโดยการอำพลางไฟฟ้า และสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ เมื่อถึงฤดูหนาว ทำให้พระสุขภาพทรุดโทรมและทรงประชวรหนักขึ้น
30 พฤษภาคม 2484 รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต
วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงอย่างสงบ ด้วยโรคพระหทัยวาย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน โดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน เป็นเวลา 4 วัน เพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลได้มาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย และวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ณ สุสานโกลเดอร์สกรีน โดยนายอาร์. ดี. เครก พระสหายชาวอังกฤษอ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ และมีการบรรเลงเพลงเมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้าย
พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
พระตำหนักที่ประทับในต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2536). พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2558). ใต้ฟ้าประชาธิปก พระราชกระแสทรงขออภัย ณ วาระสุดท้ายแห่งรัชกาล. จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า, 16 (6), หน้า 2. https://www.kpi.ac.th/
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2544). ‘บ้าน’ ไกลบ้าน: ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ. รายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประจำปี 2543. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
การวิก จักรพันธุ์, ม.จ., นรุตม์ (เรียบเรียง). (2539). ใต้ร่มฉัตร : หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. แพรวสำนักพิมพ์.
ผู้เรียบเรียง
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.