๓๓
25 กุมภาพันธ์ 2468 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศองค์ประมุขในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศโดยสมบูรณ์ ทุกกระบวนการในพระราชพิธีมีความหมายและแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทย แรกเริ่มได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย ปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับการราชาภิเษก เมื่อครั้งการขึ้นครองราชย์ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ในสมัยสุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระราชพิธีเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ – วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 มีลำดับการพระราชพิธี ดังนี้ 1) การเตรียมพระราชพิธี 2) พระราชพิธีเบื้องต้น 3) พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4) พระราชพิธีเบื้องปลาย และ 5) การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร 

1. เตรียมการพระราชพิธี

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ 2468 ประกอบด้วยพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย (แผ่นทอง) จารึกดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินด้วยงากลึง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และจัดเตรียมตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ ในการประกอบพระราชพิธีในพระมหามณเฑียร ตั้งแต่งเครื่องบรมราชาภิเษกบนพระแท่นมณฑล รวมทั้งจัดโรงพระราชพิธีพราหมณ์ที่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

การจารึกพระสุบรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพและแกะพระราชลัญจร

4 กุมภาพันธ์ 2468 หัวเมือง 17 มณฑล รวม 18 แห่ง ตั้งพิธีเสกน้ำมูรธาภิเษก เมื่อเสร็จพิธีแล้วจัดส่งเพื่อตั้งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

20 กุมภาพันธ์ 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายบังคมพระบรมอัฐิบูรพมหากษัตริยาธิราชและพระราชินี ณ หอพระธาตุมณเฑียร พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเสด็จฯ ถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนที่จะเสด็จเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

2. พระราชพิธีเบื้องต้น

 21 – 24 กุมภาพันธ์ 2468 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีตั้งน้ำวงด้าย (สายสิญจน์) ณ พระมหามณเฑียร คือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน นับเป็นการเริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2468 ทรงจุดเทียนชัย จากนั้นทรงจุดทียนชนวนและโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กนำไปจุดธูปเทียนตั้งเครื่องบวงสรวงสักการะเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่าง ๆ รวม 17 แห่ง และเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จุดเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระธรรมที่แท่นเตียงสวด จุดเทียนเท่าพระองค์ ทรงจุดเทียนนมัสการพระพุทธสัมพรรณี พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรน้อย และเสด็จฯ จุดเทียนในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

3. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

มหาศุภมงคลพระฤกษ์สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก เริ่มพระราชพิธี

  • เวลา 09.15 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศทหารเรือ ทรงสายสะพานนพรัตนราชวราภรณ์ เสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งบรมพิมานโดยกระบวนราบ ประทับพระราชยานกง ไปประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ หมู่พระมหามณเฑียร

ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทองคำ ประทับ ณ ตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาว มณฑปพระกระยาสนาน ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก

  • เวลา 9.53 น. มหาศุภมงคลฤกษ์ ทรงเข้าพิธีสรงพระมุรธาภิเษก หมายถึง การรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ ถือเป็นพิธีสำคัญในการเปลี่ยนพระราชสถานะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศ เสด็จขึ้นประทับ ณ หอพระสุราลัยพิมาน ทรงพระภูษาขาว สะพักขาวขลิบทองนพคุณโหรบูชาพระฤกษ์ พระราชครูวามเทพมุนี เจ้ากรมพราหมณ์พิธี กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสรงน้ำมูรธาภิเษก ที่พระมณฑปพระกระยาสนาน ทรงขึ้นประทับตั่งไม้อุทุมพรพันผ้าขาว ทรงเหยียบใบตะขบ ผันพระพักตร์สู่ทิศอีสาน ทรงรับพระเครื่องกระยาสนานและสหัสธารา ทรงมุรธาภิเษก (สรงน้ำ) แล้วผลัดพระภูษา
  • เสร็จฯ ประทับพระที่นั่งอัฐทิศภายใต้พระบวรเศวตฉัตร โดยทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์สีน้ำเงิน ตามสีพิชัยสงครามวันพฤหัสบดี ทรงรับน้ำอภิเษกจากราชบัณฑิตและพราหมณ์ 8 ทิศ พระราชครูวามเทพมุนีถวายน้ำพระมหาสังข์ พระสิทธิไชยบดีถวายน้ำพระครอบสำริด
  • เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกครบทั้ง 8 ทิศแล้ว เสร็จฯ ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ รวม 19 รายการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับพระที่นั่งพุตตานกาญจนสิงหาสน์ พร้อมด้วยข้าราชบริพารเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงราชศาสตราวุธ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ อันเป็นคำปฏิญญาในการขึ้นครองราชย์ ว่า

“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”

4. พระราชพิธีเบื้องปลาย

ประกอบด้วย พระราชพิธีเสด็จมหาสมาคม การสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี การประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก การเฉลิมพระราชมณเฑียร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เฝ้าฯ ถวายชัยมงคล การเสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยพระราชพิธีเสด็จมหาสมาคม และการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี เป็นพระราชพิธีที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7

พระราชพิธีเสด็จมหาสมาคม

การเสด็จออกมหาสมาคม หมายถึง เสด็จออกที่ประชุมใหญ่ในพระราชพิธีสำคัญ พระมหากษัตริย์เสด็จออกมหาสมาคมในตอนบ่ายของวันที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษก

25 กุมภาพันธ์ 2468 เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จประทับพระที่นั่งพุตตานกาญจนสิงหาสน์บนพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตร โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ผู้แทนพระราชาธิบดี ประธานาธิบดี คณะทูตานุทูต และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายเสนาอำมาตย์ราชเสวก เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระชฎามหากฐิน เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” จากนั้นได้พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ ทรงเจิมที่พระนลาฏ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมวงศ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์อันเป็นโบราณมงคลและเครื่องราชูปโภคสำหรับตำแหน่งพระอัครมเหสี ถือเป็นพระราชพิธีสถาปนา “สมเด็จพระบรมราชินี” ครั้งแรกในสยาม  

การประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก

25 กุมภาพันธ์ 2468 เวลา 16.00 น. เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราเป็นพระฤกษ์คราวแรก สู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร สมเด็จพระสังฆราชถวายศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสมาทานศีล แล้วมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก

พระราชพิธีการเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เสมือนเป็นพิธีขึ้นบ้านใหม่ของพระเจ้าแผ่นดิน จัดขึ้น ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นโบราณราชประเพณีในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

25 กุมภาพันธ์ 2468 เวลาใกล้ค่ำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระราชวงศ์ฝ่ายในเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภค ประกอบด้วย พระแสงฝักทองเกลี้ยง พระแสงขรรค์เพชรน้อย พระแส้หางช้างเผือกผู้ ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ไก่ขาว ศิลาบด พานพืช กุญแจทอง จั่นหมากทอง วิฬาร์ (แมว) พานฟัก พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) พานพระศรี (พานหมาก) พานรัตนกรัณฑ์ (หม้อน้ำ) พานพระกล้อง พานดอกไม้ พานธูปเทียน

เมื่อถึงมหามงคลฤกษ์ในเวลา 21.51 น. ทรงประทับเสด็จขึ้นประทับบนพระแท่นที่บรรทมและทรงเอนพระองค์ลงเป็นพระฤกษ์

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เฝ้าฯ ถวายชัยมงคล

26 กุมภาพันธ์ 2468 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ ห้องด้านทิศตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอกอัครราชทูตพิเศษที่มาช่วยงานแทนพระองค์ราชาธิบดีและประธานาธิบดีนานาประเทศเข้าเฝ้าคราวละนาย รวม 9 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ จากนั้นเสด็จออกท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศนำคณะทูตานุทูตต่างประเทศเฝ้าพร้อมกัน

เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 

27 กุมภาพันธ์ 2468 16.00 น. เสด็จออกท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เบิกคณะผู้แทนประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ นักบวชโรมันคาทอลิก ฮินดู คณะพ่อค้าจีน อิสลาม ซิกข์ ญี่ปุ่น และชาวไทย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

27 กุมภาพันธ์ 2468 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีราษฎรมาเข้าเฝ้าคอยดูอย่าล้นหลามไปจนถึงประตูพิมานชัยศรี พระยาเพ็ชรดา (สะอาด ณ ป้อมเพชร) สมุหพระนครบาลกราบบังคมทูลพระกรุณาทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแทนอาณาประชาราษฎร์

5.การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร 

เลียบพระนคร หมายถึง เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนครภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันถวายพระพรชัยมงคลและชื่นชมพระบารมีพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค ดังนี้

1 มีนาคม 2468 เสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (ทางบก) เลียบพระนครเพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้เฝ้าชมพระบารมี และเสด็จไปสักการปูชนียวัตถุสถาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

3 มีนาคม 2468 เสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ทรงประทับเหนือพระราชบัลลังก์บุษบกในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ทางน้ำ) ไปนมัสการปูชนียวัตถุสถาน ณ วัดอรุณราชวราราม เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบตามโบราณราชประเพณี

ของที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานของชำร่วยที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้แก่พระเถระ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ คหบดีชาวไทยและต่างประเทศ ดังนี้

1.เหรียญบรมราชาภิเษก มีทั้งเหรียญเงินและเหรียญทอง แถบแพรริ้วเป็นเหลืองทองกับเขียวสลับกัน ด้านหน้าแสดงพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 จารึกที่ขอบว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ และด้านหลังจารึกว่า “เสด็จเถลิงราชมไหศวรยสมบัติบรมราชาภิเษก วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พระพุทธศก ๒๔๖๘”

2.เหรียญบรมราชาภิเษกเหรียญทองแดง พระราชทานให้แก่พระสงฆ์ ด้านหน้าจารึกว่า “ประชาธิปก บรมราชาธิราช” ด้านหลังจารึกว่า “ที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๔๖๘”

  1. ดอกพิกุลเงินและดอกพิกุลทอง
  2. หนังสืออธิบายเกี่ยวกับงานพระราชพิธี สำหรับชาวต่างประเทศ

การบันทึกภาพยนตร์ครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพยนตร์ในพระราชพิธีสำคัญของไทย ถ่ายทำโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง เป็นภาพยนตร์ข่าว “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปี 2468 ต่อมาหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562. http://phralan.in.th/coronation/vocab.php
พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์). (2562). จดหมายเหตุบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2468. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร (ม.ป.ป.). การทรงรับราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน