การอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ถือว่าเป็นแบบอย่างของการมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียวที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการมีคู่ครองแบบที่ไม่เคยปรากฎในสังคมไทยมาก่อน และเป็นจุดเริ่มต้นค่านิยม “ผัวเดียว-เมียเดียว” นำมาซึ่ง “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช 2473” ที่ยังปฏิบัติและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของค่านิยม “ผัวเดียว-หลายเมีย“
เดิมทีสถาบันครอบครัวในสังคมสยามอยู่ภายใต้ระบบ “ผัวเดียว-หลายเมีย” เพศชายไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตามล้วนมีสิทธิและอำนาจเหนือเพศหญิง รวมถึงยังคงเป็นผู้นำในทุก ๆ ด้าน หากย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา มีหลักฐานเชิงกฎหมายที่เป็นรูปธรรม คือ กฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1906 เรียกกันว่า “พระอัยการลักษณะผัวเมีย” และถูกใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับกฎหมายพระอัยการลักษณะผัวเมีย เป็นกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ในขณะเดียวกันไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีสามีมากกว่าหนึ่งคน และจำเป็นต้องมีกฎหมายจัดลำดับชั้นของภรรยาเพื่อความสะดวกในการจัดระเบียบการปกครองภายในครอบครัว โดยแบ่งลำดับของภรรยาเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เมียกลางเมือง เมียกลางนอกและเมียกลางภาษี เป็นต้น มีการบังคับใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เริ่มได้รับอิทธิพลจากมโนทัศน์ชาวตะวันตกเรื่อง “ผัวเดียว-เมียเดียว” ถูกส่งทอดเข้ามาผ่านมิชชันนารี จึงเริ่มมีเสียงวิจารณ์ระบบความสัมพันธ์ทางเพศในครอบครัวของไทย เนื่องจากอุดมการณ์ของจักรวรรดินิยมตะวันตกมองว่า ระบบเครือญาติและครอบครัวเป็นสิ่งแสดงระดับความศิวิไลซ์ของแต่ละสังคม โดยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดกฎหมายจากระบบหลายเมียมาเป็น “ผัวเดียว-เมียเดียว” เริ่มเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อันเป็นช่วงที่รัฐบาลปรับปรุงกฎหมาย เพื่อยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เพื่อให้ได้เอกราชทางการศาล ในตอนนั้นกรมหมื่นสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ทรงสนับสนุนระบบ “ผัวเดียว-เมียเดียว” อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงไม่เห็นชอบด้วย เนื่องจากถ้าออกกฎหมายแล้วไม่สามารถปฏิบัติกันได้จะเป็นการลบลู่กฎหมาย จึงเป็นเหตุผลให้ยุติลง
จุดเริ่มต้นค่านิยม “ผัวเดียว-เมียเดียว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการตรากฎหมายสำคัญที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช 2473” กล่าวได้ว่า เป็นกฎหมายฉบับแรกที่รับรองสถานะหญิงที่เป็นภรรยาด้วยทะเบียนสมรสและการหย่า ทว่าการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงค่านิยมดั้งเดิมที่ยอมรับให้ชายมีภรรยาได้หลายคนมาเป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียวมิใช่เรื่องง่าย ทรงใช้วิธีการละมุนละม่อมด้วยการตราพระราชบัญญัตินี้ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 และให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 หรืออีก 2 ปีต่อมา พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุให้มีการจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า และจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อทดแทนธรรมเนียมดั้งเดิมเป็นครั้งแรกในสังคมไทย หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลของคณะราษฎรได้นำสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้มารวมไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพที่ 5 ว่าด้วยเรื่อง ครอบครัว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2478
อย่างไรก็ดี กฎหมายครอบครัวของไทยในยุคนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าได้รับอิทธิพลทางกฎหมายต่างประเทศเข้ามามาก เช่น แนวคิดผัวเดียวเมียเดียว การจดทะเบียนสมรส สินส่วนตัวและการแบ่งสินสมรสคนละกึ่งหนึ่งภายหลังการหย่า เป็นต้น จึงต้องยอมรับว่า บรรพ 5 สะท้อนความเป็นไทยได้มากที่สุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงกฎหมายยังยืนยันความเป็นสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคในรัฐธรรมนูญที่ให้ชายหญิงมีสิทธิเลือกตั้งโดยเท่าเทียมกัน และเพื่อให้สยามในเวลานั้นได้มีเอกราชในทางศาลเพื่อให้ชาติอาณานิคมยอมรับความ “ศิวิไลซ์”
รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นแบบอย่างของการมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นแบบอย่างของจุดเริ่มต้นค่านิยมของการมี “ผัวเดียว-เมียเดียว” พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ถือว่าเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 กล่าวคือ หากเจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนเสมอ หากผู้ใดทำฝ่าฝืน “ถือว่าได้ทำผิดฐานละเมิดต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นกุลเชฐในพระราชวงศ์”
พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยามถือเป็นการนำธรรมเนียมการสมรสระหว่างของชาวตะวันตกและประเพณีวัฒนธรรมแบบของไทยมาผสมผสานได้อย่างลงตัว กล่าวคือ มีการตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสถึงความสมัครใจ เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาต่อกันระหว่างคู่สมรส โดยมีบาทหลวงเป็นผู้ถาม เมื่อเสร็จการพิธีแบบตะวันตกแล้ว เป็นพิธีการรดน้ำสังข์ตามประเพณีวัฒนธรรมแบบของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏและทรงเจิมที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี
ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสทั้งสองพระองค์ทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน” และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น “ผู้สู่ขอตกแต่ง” และ “ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน” นับว่าเป็น “ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์” สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส
นอกจากนี้ยังมีพิธีลอดซุ้มกระบี่และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น “ของชำรวยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม” นับได้ว่าความรักของทั้งสองพระองค์ ถือเป็นแบบอย่างความรักที่ซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียวตลอดชีวิต และยั่งยืนตลอดพระชนม์ชีพ จากคำกล่าวของหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
“ทั้งสองพระองค์ทรงดูแลกันและกัน ทรงอยู่เคียงข้างกันเสมอจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในอังกฤษเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484”
เอกสารอ้างอิง
วัลลี นวลหอม. ธงชัย กาญจนพงค์. เสาวลักษณ์ ทรัพย์วิภาดา. น้ำฝน ทองประเสริฐ. จุดเริ่มต้นค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทย. ศาสตร์พระราชา และการวิจัยเพื่อสร้างดุลยภาพชีวิตในยุค Disruptive Technology. (2563). 2676-2680. https://publication.npru.ac.th/bitstream/123456789/957/1/จุดเริ่มต้นค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทย.pdf
รัชกร คงเจริญ. (2563) วันแห่งความรักกับเรื่อง 26 สิงหาคม 2461 พระราชพิธีอภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี การสมรสครั้งแรกในสยาม. ห้องสมุด มสธ. https://library.stou.ac.th/2022/08/royal-wedding-ceremony-of-king-prajadhipok/
ไชยพัฒน์ ธรรมชุตินันท์. พัฒนาการของกฎหมายลักษณะครอบครัวไทย. (2565). 472-477. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/tulawjournal/article/download/257994/175039/971928
ศิลปวัฒนธรรม. (2562) เปิดจุดเสื่อมระบบ “ผัวหลายเมีย” ไทยผ่านอะไรบ้างกว่าจะมีกฎหมาย “ผัวเดียวเมียเดียว”. https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_32097
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.