นโยบายการพัฒนาคลังปัญญา มสธ.

1. นโยบายคลังปัญญา มสธ.

คลังปัญญา มสธ. (STOUIR : Sukhothai Thammathirat Open University Intellectual Repository) จัดเก็บและให้บริการสารสนเทศในรูปแบบดิจิทัล ที่สำนักบรรณสารสนเทศได้พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บ สงวนรักษา เผยแพร่องค์ความรู้ เป็นผลงานนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในรูปแบบสื่อดิจิทัล โดยปัจจุบันดำเนินการในส่วนของคอลเลกชั่นดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์และการศึกษาค้นคว้าอิสระ ซึ่งได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่จากทางเจ้าของผลงานผ่านข้อตกลงในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในงานวิจัย/ดุษฎีนิพนธ์/วิทยานิพนธ์/การค้นคว้าอิสระระหว่างนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการจัดทำและเผยแพร่ในรูปแบบสื่อดิจิทัลหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงถึงการอนุญาตแก่คลังปัญญา มสธ. เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจ ของมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นการสงวนรักษาผลงานเหล่านั้นให้คงไว้ในระยะยาว (Archiving) เพื่อให้บริการแก่ คณาจารย์ นักศึกษา นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งเป็นช่องทางในเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

2. ขอบเขตทรัพยากรสารสนเทศที่จัดเก็บ

คลังปัญญา มสธ. จัดเก็บและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาฉบับสมบูรณ์ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากเจ้าของผลงาน/เจ้าของลิขสิทธิ์ ผ่านข้อตกลงในการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวิจัย ดุษฎีนิพนธ์วิทยานิพนธ์ การศึกษาค้นคว้าอิสระ ในการจัดทำเผยแพร่และให้บริการในรูปแบบสื่อดิจิทัล หรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงถึงการอนุญาตแก่คลังปัญญา มสธ. ในลักษณะการเข้าถึงแบบเปิด (Open Access)

3. ประเภทของทรัพยากรสารสนเทศ

ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่จัดเก็บและให้บริการในคลังปัญญา มสธ. ได้แก่ ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาฉบับสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

4. ผู้สร้างสรรค์ผลงาน หรือเจ้าของผลงานที่มีสิทธิ์ในการนำผลงานเผยแพร่

นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผลงานฉบับสมบูรณ์ที่นำเข้า คือ ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ นำเข้าคลังปัญญา มสธ. โดยสำนักบรรณสารสนเทศ ผ่านระบบ iThesis การรวบรวมไฟล์ดิจิทัลจากสำนักบัณฑิตศึกษา และการสแกนไฟล์จากตัวเล่มของสำนักบรรณสารสนเทศ

5. การพิจารณานำทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลเข้าคลังปัญญา มสธ. (เงื่อนไขการนำฝากข้อมูล)

สำนักบรรณสารสนเทศได้ติดต่อประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการคลังปัญญา มสธ. ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักบัณฑิตศึกษาที่เป็นผู้รวบรวมผลงานของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อนำส่งไฟล์ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลให้กับสำนักบรรณสารสนเทศ ผ่านระบบ iThesis เพื่อนำข้อมูลเข้าคลังปัญญา มสธ. โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพื่อการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศดังกล่าว ซึ่งเกณฑ์การพิจารณานำเข้าทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลประเภทดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระเข้าคลังปัญญา มสธ. มีดังนี้

5.1 ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ ของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ภาคต้นปีการศึกษา พ.ศ. 2566 นำเข้ามาที่คลังปัญญา มสธ. ผ่านระบบ iThesis แทนการส่งรูปเล่มให้แก่ สำนักบัณฑิตศึกษาและสำนักบรรณสารสนเทศ

5.2 ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ ของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ภาคปลายของปีการศึกษา พ.ศ. 2565 ลงไป ทางสำนักบัณฑิตศึกษาเป็นผู้รวบรวมเพื่อนำส่งไฟล์ดิจิทัลให้สำนักบรรณสารสนเทศ

5.3 ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ บางส่วนตั้งแต่ ปีการศึกษา พ.ศ. 2560 ลงไปที่ไม่มีไฟล์ดิจิทัลฉบับเต็ม สำนักนำตัวเล่มมาแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลและให้บริการที่คลังปัญญา มสธ. ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อลดการให้บริการตัวเล่ม

5.4 หากดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ ที่มีสถานะ “ปกปิดและความลับ” และมีเงื่อนไขในการให้บริการเผยแพร่ มีหลักการปฏิบัติ ดังนี้

5.4.1 สำนักบัณฑิตศึกษาจะไม่ส่งไฟล์และตัวเล่ม ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระรายชื่อนั้นมาให้สำนักบรรณสารสนเทศ

5.4.2 กรณีที่สำนักบัณฑิตศึกษาส่งไฟล์ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ และทางสำนักได้ดำเนินการเผยแพร่แล้วมีผู้ร้องเรียน แจ้งปัญหาหรือข้อเสนอแนะ หากพบความผิดพลาด ความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และความไม่เหมาะสมของข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ มายังเจ้าหน้าที่คลังปัญญา มสธ. ผ่านแบบฟอร์มรับข้อร้องเรียน/ข้อเสนอแนะการใช้บริการคลังปัญญา มสธ. หรือ อีเมลหน่วยวิเคราะห์ทรัพยากร ฝ่ายเทคนิค [email protected] หรือเบอร์โทรศัพท์ 0-2504-7454-56 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งปัญหาและข้อเสนอแนะต่าง ๆ แล้วจะดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้นทางสำนัก จะระงับการให้บริการสารสนเทศดิจิทัลดังกล่าวในระบบห้องสมุดอัตโนมัติและคลังปัญญา มสธ. พร้อมทั้งติดต่อแจ้งข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรให้สำนักบัณฑิตศึกษารับทราบและพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักจะดำเนินการตามผลการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้และแจ้งกลับไปยังผู้ใช้บริการทราบ

5.5 กรณีดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ iThesis และไม่ได้มีสถานะ “ปกปิดและความลับ” สำนักจะประสานงานกับสำนักบัณฑิตศึกษาเพื่อรับข้อมูลในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลตามที่คลังปัญญา มสธ. กำหนด และนำเข้าคลังปัญญา มสธ. โดยไม่รับไฟล์จากนักศึกษาโดยตรง

6. การนำข้อมูลเข้า การจัดการไฟล์ และการลงรายการทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล

สำนักบัณฑิตศึกษารวบรวมไฟล์ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ ให้สำนักบรรณสารสนเทศเพื่อนำข้อมูลเข้าคลังปัญญา มสธ.

6.1 การนำเข้าดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระ นำเข้าคลังปัญญา มสธ. ผ่านระบบ iThesis โดยสำนักบรรณสารสนเทศ เป็นผู้นำเข้าข้อมูลให้

6.2 ผู้รับผิดชอบในการนำข้อมูลเข้าคลังปัญญา มสธ. จะทำการจัดการไฟล์และหรือแปลงไฟล์ผลงานให้เป็นดิจิทัล โดยปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนงาน คู่มือการจัดการไฟล์ดิจิทัลและการนำข้อมูลเข้าสู่คลังปัญญา มสธ. พร้อมลงรายการทรัพยากรสารสนเทศ โดยใช้ Dublin Core Metadata เป็นมาตรฐานการลงรายการทางบรรณานุกรม

7. ระยะเวลาในการการเก็บรักษาไฟล์

ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่ให้บริการในคลังปัญญา มสธ. จะดำเนินการสงวนรักษาและจัดเก็บในคลังปัญญา มสธ. ตามแผนการสงวนรักษาข้อมูลคลังปัญญา มสธ. ซึ่งไฟล์ดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการศึกษาค้นคว้าอิสระยังไม่มีนโยบายในการคัดทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลออก ยกเว้นผลงานที่มีสถานะ “ปกปิดและความลับ”

8. การเข้าถึงคลังปัญญา มสธ.

สำนักบรรณสารสนเทศได้พัฒนาคลังปัญญา มสธ. เพื่อรวบรวม จัดเก็บ สงวนรักษา เผยแพร่องค์ความรู้ เป็นผลงานนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในรูปแบบสื่อดิจิทัล ที่สามารถสืบค้น เข้าถึงข้อมูลทางบรรณานุกรม บทคัดย่อ เอกสารฉบับเต็มที่สามารถบันทึกผลการสืบค้น และพิมพ์เอกสารฉบับเต็มได้ โดยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงแบบเปิด (Open Access) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

9. การประเมินคุณค่า และการคัดทรัพยากรสารสนเทศออกจากการให้บริการ

ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่ให้บริการในคลังปัญญา มสธ. ที่มีเนื้อหาตามนโยบายข้างต้นของสำนักบรรณสารสนเทศ ยังไม่มีนโยบายในการคัดออกจากการให้บริการ ยกเว้นผลงานที่มีสถานะ“ปกปิดและความลับ” แต่ทั้งนี้สำนักจะพิจารณาเพิ่มเนื้อที่ (Storage) ในการจัดเก็บคลังปัญญา มสธ. มากขึ้น หากมีเหตุทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้บริการเนื้อหานั้นได้ สำนักบรรณสารสนเทศจะระงับการให้บริการสารสนเทศดิจิทัลดังกล่าวในระบบห้องสมุดอัตโนมัติและคลังปัญญา มสธ. จะดำเนินการตามแนวทาง ข้อ 5 “การพิจารณานำทรัพยากรสารสนเทศเข้าคลังปัญญา มสธ. (เงื่อนไขการนำฝากข้อมูล)” และ การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่คลังปัญญา มสธ. ทราบเพื่อดำเนินนำเสนอการพิจารณาและถอดถอนออกจากคลังปัญญา ผ่านแบบฟอร์มรับข้อร้องเรียน/ข้อเสนอแนะการใช้บริการคลังปัญญา มสธ. หรือ อีเมลหน่วยวิเคราะห์ทรัพยากร ฝ่ายเทคนิค [email protected] หรือเบอร์โทรศัพท์ 0-2504-7454-56

ไปรษณีย์

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 9/9 หมู่.9 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

โทรศัพท์​

08 7100 1983
0 2504 7463-65

อีเมล​

[email protected]

เฟซบุ๊ก​

facebook.com/stoulibrary
m.me/stoulibrary

ไลน์

@stoulibrary

10. นโยบายความเป็นส่วนตัว

10.1 คลังปัญญา มสธ. จะปฏิบัติต่อข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมั่นคงปลอดภัย และปิดเป็นความลับ และปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ ภายใต้ประกาศเรื่อง นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2564 ผู้ใช้บริการโปรดศึกษารายละเอียดได้จากประกาศ

10.2 กรณีผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือเจ้าของผลงาน คลังปัญญา มสธ. จะลงรายการทรัพยากรสารสนเทศตามหลักเกณฑ์การลงรายการบรรณานุกรมที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นไปตามหลักวิชาชีพ โดยจะไม่มีการเพิ่มเติมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว อีเมลส่วนตัว และที่อยู่ ลงในระเบียนเมทาเดทา

10.3 คลังปัญญา มสธ. จะดูแลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมั่นคงปลอดภัย ปกปิดเป็นความลับ และปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าใช้งาน และผู้สร้างสรรค์ผลงาน หรือเจ้าของผลงาน ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

11. งบประมาณ

คลังปัญญา มสธ. อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักบรรณสารสนเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องตามรอบปีงบประมาณ ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะถูกนำมาใช้ในการบริหารงานของคลังปัญญา มสธ. ด้วย ครอบคลุมถึงงบประมาณในรวบรวม การจัดเก็บ สงวนรักษา เผยแพร่และให้บริการ การบริหารจัดการบุคลากร การประชาสัมพันธ์การใช้งาน และการบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ได้จัดสรรงบประมาณจาก 2 แหล่งประมาณ ตามรอบปีงบประมาณของมหาวิทยาลัย ซึ่งการดำเนินงานของคลังปัญญา มสธ. ได้รับการจัดสรรจาก 2 แหล่งงบประมาณ ดังนี้

11.1 งบประมาณแผ่นดิน สำหรับเงินเดือนของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานประจำงานคลังปัญญา มสธ.

11.2 งบประมาณเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย สำหรับการบริหารจัดการงานประจำ เช่น สแกนเอกสาร การบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมทั้งการเข้ารับการอบรม สัมมนา และการพัฒนาบุคลากร

12. การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน

คลังปัญญา มสธ. ได้จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การปรับโครงสร้างองค์กรหรือปรับเปลี่ยนบุคลากรที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบงานคลังปัญญา มสธ. เพื่อให้การนำเข้าข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักบรรณสารสนเทศได้ดำเนินการเตรียมแผนสืบทอดงาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารจัดการ นำเข้าข้อมูล และให้บริการสารสนเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้สามารถทำงานทดแทนกันได้ เมื่อมีการปรับโครงสร้างองค์กรหรือปรับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือ กรณีบุคลากรลาออก หรือเกษียณอายุราชการ รวมทั้งมีการจัดทำคู่มือการจัดการไฟล์ดิจิทัล การนำข้อมูลเข้าสู่คลังปัญญา มสธ. และการขอรหัสตัวระบุวัตถุดิจิทัล เพื่อเป็นแนวทางในการนำเข้าข้อมูลที่ถูกต้องให้กับบุคลากรผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบงานส่วนนี้สามารถนำเข้าข้อมูลสู่คลังปัญญา มสธ. ได้ เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรหรือผู้รับผิดชอบงาน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง (Continuity of Service) ในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ สำนักบรรณสารสนเทศได้มีการประสานความร่วมมือกับสำนักคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ 1) แผนบริหารความต่อเนื่องของคลังปัญญา มสธ. 2) แผนบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคลังดิจิทัล สำนักบรรณสารสนเทศ พ.ศ. 2568 – 2570 3) แผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ พ.ศ. 2567 และ 4)แผนการสำรองและกู้คืนข้อมูล คลังปัญญา มสธ. เพื่อป้องกันข้อมูลเสียหายและการสูญหาย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนและภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการกู้คืนระบบคลังปัญญา มสธ. ให้สามารถดำเนินการเปิดให้บริการโดยเร็วที่สุด